รวมเรื่องสั้นสยองขวัญ ถวิลหาอดีต คิดถึงปัจจุบัน หลอนไปในอนาคต เพราะความตายมิใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสยองขวัญ

สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) - เรื่องที่ 12 เพื่อนตายถ่ายแทนชีวาอาตม์(ตอนที่ 2) โดย ท่าเพชร @Plotteller | พล็อตเทลเลอร์

ลึกลับ,เรื่องสั้น,ระทึกขวัญ,ดราม่า,ย้อนยุค,ผึ,สยองขวัญ,ผี,ดราม่า,ลึกลับ,ย้อนยุค,ชนบท,วัด,เรื่องเล่า,plotteller, ploteller, plotteler,พล็อตเทลเลอร์, แอพแพนด้าแดง, แพนด้าแดง, พล็อตเทลเลอร์, รี้ดอะไร้ต์,รีดอะไรท์,รี้ดอะไรท์,รี้ดอะไร, tunwalai , ธัญวลัย, dek-d, เด็กดี, นิยายเด็กดี ,นิยายออนไลน์,อ่านนิยาย,นิยาย,อ่านนิยายออนไลน์,นักเขียน,นักอ่าน,งานเขียน,บทความ,เรื่องสั้น,ฟิค,แต่งฟิค,แต่งนิยาย

สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club)

หมวดหมู่ที่เกี่ยวข้อง

ลึกลับ,เรื่องสั้น,ระทึกขวัญ,ดราม่า,ย้อนยุค

แท็คที่เกี่ยวข้อง

ผึ,สยองขวัญ,ผี,ดราม่า,ลึกลับ,ย้อนยุค,ชนบท,วัด,เรื่องเล่า

รายละเอียด

สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club)  โดย ท่าเพชร @Plotteller | พล็อตเทลเลอร์

รวมเรื่องสั้นสยองขวัญ ถวิลหาอดีต คิดถึงปัจจุบัน หลอนไปในอนาคต เพราะความตายมิใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความสยองขวัญ

ผู้แต่ง

ท่าเพชร

เรื่องย่อ

ผีมีจริงหรือไม่?

          คนเราตายแล้วไปไหน?

            สโมสรหลังเมรุ(Cemetery Club) มีจุดกำเนิดจากการได้รับแรงบันดาลใจจากได้ฟังเรื่องผี เรื่องวิญญาณ ทว่าจุดเริ่มต้นที่แท้จริงเกิดจากพระภิกษุกลุ่มหนึ่งสนทนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องเร้นลับทั้งประสบพบเจอเอง ได้ยินได้ฟังมาในระหว่างรอสวดมาติกาบังสุกุลศพในช่วงบ่ายและระหว่างรอสวดพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ในงานพิธีศพ บางคนอาจจะมองว่าการฟัง การอ่าน การชมเรื่องผีเป็นเพียงแค่ความบันเทิงเท่านั้น สำหรับผมเรื่องผีเป็นเรื่องที่มีเสน่ห์ชวนน่าหลงใหล มีคุณค่าอยู่ในตัวของมันเอง เราอยากจะรู้ว่าประเทศนั้นประเทศนี้มีความเชื่อค่านิยม วัฒนธรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์ตัวตนของประเทศนั้นๆ ผ่านการศึกษาเรื่องผี ผ่านคติความเชื่อในโลกหลังความตายได้ เรื่องผีบางเรื่องมีคติสอนใจซ่อนอยู่ มนุษย์ที่ตายไปแล้วไปสู่ภพภูมิที่ตนเองควรไป ยังวนเวียนอยู่กับมนุษย์เพราะความต้องการของเขา เธอทั้งหลายยังไม่บรรลุ ไม่ว่าจะเป็นการทวงความยุติธรรมให้แก่ตน การสั่งเสียอำลาคนที่เรารัก การใช้ตนเองเป็นธรรมทาน หรือแม้กระทั่งเป็นประจักษ์พยานในการแสดงผลของการทำความดีและผลของการทำชั่ว เรื่องผีบางเรื่องสะท้อนสภาพสังคมในแต่ละยุคอย่างเรื่อง นางนวล สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นปกครองกับชนชั้นสามัญชนคนธรรมดา แม้จะมีการเลิกทาสมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ผู้คนมากมายก็ยังคงตกเป็นทาสของอำนาจเงิน อย่าง ซ่องเจ๊เนาและซุ้มยาดองยายนี สะท้อนสภาพบ้านเมืองของอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานีในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 

สารบัญ

สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 1 ไปสวดศพ(ตอนแรก),สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 1 ไปสวดศพ(ตอนจบ),สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 2 วิวาห์ผี,สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 3 วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า(ตอนแรก),สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 3 วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า(ตอนจบ),สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 4 หอปรารถนาดี,สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 5 โรงเรียนสยองขวัญ,สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 6 ซ่องเจ๊เนา(ตอนแรก),สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 6 ซ่องเจ๊เนา(ตอนจบ),สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 7 นางนวล(ตอนที่ 1),สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 7 นางนวล(ตอนที่ 2),สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 7 นางนวล(ตอนที่ 3),สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 7 นางนวล(ตอนจบ),สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 8 ไปหาดใหญ่คราวนั้นฉันยังจดจำ,สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 9 โค้งเขาท่าเพชร,สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 10 อย่านึกถึงฉัน,สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 11 รวมเรื่องเล่าในโรงพยาบาล,สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 12 เพื่อนตายถ่ายแทนชีวาอาตม์(ตอนที่ 1),สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 12 เพื่อนตายถ่ายแทนชีวาอาตม์(ตอนที่ 2),สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 12 เพื่อนตายถ่ายแทนชีวาอาตม์(ตอนที่ 3),สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 12 เพื่อนตายถ่ายแทนชีวาอาตม์(ตอนจบ),สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 13 สามเณรใจสิงห์(ตอนแรก),สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 13 สามเณรใจสิงห์(ตอนที่ 2),สโมสรหลังเมรุ (The Cemetery Club) -เรื่องที่ 13 สามเณรใจสิงห์(ตอนที่ 3)

เนื้อหา

เรื่องที่ 12 เพื่อนตายถ่ายแทนชีวาอาตม์(ตอนที่ 2)

“กราบนมัสการพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าคุณ พระคุณเจ้าทุกรูป สวัสดีแขกผู้เกียรติทุกท่านครับ สำหรับค่ำคืนนี้พิธีบำเพ็ญกุศลศพนายสินทวี จุลลมณีกานต์โดยมีญาติสนิทมิตรสหายเป็นเจ้าภาพเริ่มด้วยการแสดงพระธรรมเทศนาโดยพระมหาบุญแก้ว สีเสฏฺโฐ ก่อนอื่นเรียนเชิญคุณปราณี จุลลมณีกานต์จุดธูปเทียนที่โต๊ะหมู่บูชาครับ” พิธีกรชายประจำศาลากล่าวเริ่มพิธีเชิญปราณีในฐานะมารดาของผู้เสียชีวิตไปรับเทียนชนวนจากพิธีกรจุดเทียนทางซ้ายมือและขวาตามด้วยจุดธูปส่งเทียนชนวนคืนให้พิธีกรแล้วก้มกราบพระพุทธรูปเป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอน

“ลำดับต่อไปเรียนเชิญคุณวิลาวัณย์ กาญจนิตย์จุดเทียนส่องธรรมที่ธรรมาสน์ครับ” พิธีกรเชิญพี่วิเจ้านายของสินให้รับเทียนชนวนจุดเทียนส่องธรรมซึ่งเป็นสัญญาณว่านิมนต์พระคุณเจ้าขึ้นสู่ธรรมาสน์ พระอาจารย์บุญแก้วลุกขึ้นจากที่นั่งฝ่ายสงฆ์ ท่านไหว้พระเถรผู้ใหญ่เดินสู่ธรรมาสน์ด้วยความสำรวม

“ต่อจากไปนี้ ขอทุกท่านโปรดสงบกายวาจา กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย และอาราธนาศีลพร้อมกันครับ อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ” พิธีกรทำหน้าที่เป็นต้นเสียงกล่าวคำบูชาได้อย่างมิขาดตกบกพร่อง เขานำอาราธนาศีล รับศีล อาราธนาธรรม พระมหาบุญแก้วหยิบกัณฑ์ขึ้นมาอ่านแสดงธรรม

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา

มนสา เจ ปสนฺเนส ภาสติ วา กโรติ วา

ตโต นํ สุขมเนฺวติ ฉายาว อนุปายินีฯ

เจริญสุขท่านสาธุชนทั้งหลาย อาตมภาพจักได้แสดงพระธรรมเทศนา พรรณนาถึงชายผู้ตามพระจันทร์ที่ปรากฏในนิทานธรรมบท เพื่อส่งอานิสงส์ให้ผู้วายชนม์คือนายสินทวี จุลลมณีกานต์ให้ได้รับผลบุญไปเสวยสุขในภพภูมิที่ดีสืบไป พอสนองศรัทธาของเจ้าภาพตามสมควรแก่เวลา

ท่านทั้งหลายได้มารำลึกนึกถึงนายสินทวี จุลลมณีกานต์ซึ่งได้ล่วงลับพลัดพรากจากสนิทมิตรสหาย การจากไปครานี้ ยังความทุกข์ระทมอาลัยรักต่อท่านทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวของเขาผู้จากไปเป็นอันมาก คุณสินทวีนั้นถือว่าเป็นคนดี เมื่อคนดีเสียชีวิตลงย่อมมีคนอาลัยคนเสียดายเป็นธรรมดา แม้แต่อาตมภาพเองก็ยังเสียดายอยู่มิรู้หายว่าทำไมความตายมาพรากคนดีคนนี้ในวัยหนุ่ม ความดีของเขามีมากอย่าง เช่น ศาลาธรรมสังเวชแห่งนี้ก็อาศัยปัจจัยจากคุณสินทวีซ่อมแซมบำรุงให้กลับมาสง่างามเป็นราศีให้แก่วัด ดั่งคำโบราณท่านกล่าวว่า อันคนดีอยู่ที่ไหนใครก็รัก จากเขาก็อาลัย ตายไปก็มีคนพิลาปรำพัน

สำหรับความหมายของพุทธศาสนสุภาษิตที่นำมาเป็นนิกเขปบทเบื้องต้นนั้นคือ ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว พูดอยู่ก็ดี ทำอยู่ก็ดี ความสุขย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้น จึงเปรียบเหมือนเงาไปตามตัว ฉะนั้นแล ใจนั้นชื่อว่าเป็นหัวหน้าแห่งธรรมทั้งปวง ด้วยเหตุว่า ธรรมทั้งปวงนั้นมีฉันทะคือความพอใจเป็นมูล เรียกว่าจะทำอะไรก็ตามแต่ก็อาศัยใจหรือความพึงพอใจเป็นตั้งต้นทั้งสิ้น อาทิเช่น ท่านทั้งหลายที่มาประชุมกันอยู่ ณ ศาลาธรรมสังเวชแห่งนี้ก็ล้วนมีใจตั้งต้นว่า มาร่วมไว้อาลัยแก่คุณสินทวี มาร่วมประกอบบุญกุศลส่งผลให้เขาได้รับบุญกุศลไปสู่ภพภูมิที่ดี อย่าเรื่องของมัฏฐกุณฑลี บุตรชายของอทินนปุพพกะพราหมณ์ผู้ที่ไม่เคยให้อะไรใครเลยเพราะความตระหนี่ถี่เหนียว ความตระหนี่ที่ปรากฏนั้นได้แก่ เมื่อพราหมณ์ต้องการทำเครื่องประดับให้บุตรชายก็มีความคิดว่าถ้าไปจ้างช่างทองก็เสียค่าจ้างไปเปล่าๆ เขาจึงนำทองคำมาแผ่เป็นแผ่นและทำเป็นตุ้มหูเกลี้ยงๆ เมื่อเสร็จก็นำมอบให้แก่บุตรชาย นับจากนั้นมาบุตรชายของงอทินนปุพพกะพราหมณ์มีชื่อว่า มัฏฐกุณพลี แปลว่า นายตุ้มหูเกลี้ยง เมื่อพราหมณ์ผู้นี้เอาใจที่ตระหนี่ถี่เหนียวเป็นที่ตั้งในการกระทำทุกสิ่งทุกอย่างนำพาความวิบัติวิปโยคให้แก่เขา เมื่อมัฏฐกุณฑลีป่วยเป็นโรคผอมเหลือง ภรรยาของพราหมณ์ให้สามีตามแพทย์มารักษาเยียวยาบุตรชาย แต่พราหมณ์หวงเงินทองจึงบอกกับภรรยาไปว่าจะรักษายังไงก็ได้ ขอเพียงไม่ต้องเสียเงิน แต่ในที่สุดมัฏฐกุณฑลีมีอาการป่วยหนักจนเมื่อหมอมาดูอาการก็ส่ายหน้าว่าเกินกำลังที่จะเยียวยารักษาแล้ว พราหมณ์คิดว่าบุตรชายคงจะไม่มีทางรอดเสียแล้ว ถ้าหากใครมาเยี่ยมบุตรก็จะเห็นทรัพย์สมบัติที่เขามีอยู่จึงย้ายบุตรชายออกมานอนรอความตายที่ตรงระเบียงนอกเรือน ในเวลาสว่างแล้ว พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักขุเพื่อเสด็จไปโปรดสัตว์โลกตามธรรมเนียมแห่งพุทธวงศ์ซึ่งปรากฏว่ามัฏฐ-กุณฑลีที่นอนใกล้ตายได้เข้ามายังข่ายพระพุทธญาณ เมื่อถึงเวลาพระพุทธองค์เสด็จบิณฑบาตเข้าสู่กรุงราชคฤห์ เสด็จสู่ประตูเรือน มัฏฐกุณฑลีมาณพนอนผินหน้าไปทางในฝาเรือน พระพุทธเจ้าทรงทราบว่าเขาไม่เห็นพระองค์จึงทรงเปล่งแสงวาบฉัพพัณรังสี จนมาณพต้องหันมามองแล้วกล่าวว่า “เราอาศัยบิดาเป็นอันธพาล จึงไม่ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเห็นปานนี้แล้ว ไม่ได้ทำความดีด้วยกาย หรือถวายทาน หรือฟังธรรม เดี๋ยวนี้แม้แต่มือสองข้างของเราก็ยกขึ้นไม่ไหว บุญที่ควรทำอย่างอื่นไม่มี” เขาจึงน้อมจิตให้เลื่อมใสพระศาสดา เมื่อพระพุทธองค์รู้แล้วว่ามัฏฐกุณฑลีมาณพทำให้เลื่อมใสก็เสด็จหลีกไป ส่วนมาณพก็สิ้นลมหายใจไปจุติณ วิมานสูง 30 โยชน์ในเทวโลกดุจหลับแล้วตื่นขึ้น พราหมณ์ก็ทำการฌาปนกิจบุตรชาย มีคำกล่าวว่าไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตาคงใช้ได้ดีกับพราหมณ์ผู้นี้ ด้วยความรู้สึกรักหรือผิดต่อบุตรชายก็มิทราบ ในทุกๆ วันเขาจะไปร้องไห้อยู่ในป่าช้าพลางบ่นรำพันว่า “ลูกชายเรา เจ้าไปอยู่ไหน... ลูกชายเรา... เจ้าตายไปไหน” ท่านเทพบุตรแลดูสมบัติของตนก็ระลึกเหตุที่ได้เสวยสุขเพราะด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า แล้วหวนคิดถึงบิดาจึงทราบว่า เดี๋ยวพราหมณ์ได้ร้องไห้ในป่าช้า ควรให้บทเรียนแก่เขาจึงจำแลงตัวเหมือนมัฏฐกุณฑลีมาณพได้กอดแขนยืนร้องไห้อยู่ ในที่ไม่ไกลป่าช้า เมื่องอทินนปุพพกะพราหมณ์เห็นชายผู้เหมือนมัฏฐกุณฑลีมาณพจึงไต่ถามสาเหตุที่การร้องไห้ของเขา เทวดาจำแลงตอบว่า “ข้าพเจ้ามีรถทองคำอยู่คันหนึ่ง แต่ว่ายังหาคู่ล้อที่เหมาะสมกับรถไม่ได้ ข้าพเจ้าจักยอมเสียชีวิตเพราะความทุกข์นั้น” พราหมณ์จึงพูดกับเขาว่า “ท่านต้องการคู่ล้อแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นทองคำ เงิน แก้ว ข้าจักหามาให้ท่าน” เทพบุตรจึงแกล้งบอกไปว่า “ข้าพเจ้าต้องการด้วยพระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสองดวง รถของข้าพเจ้านั้นทำด้วยทองคำย่อมงามสมกันด้วยพระจันทร์แลพระอาทิตย์ส่องแสงเป็นคู่แห่งวิถีทั้งสอง ได้โปรดให้พระจันทร์และพระอาทิตย์แก่ข้าพเจ้าตามที่ท่านกล่าวไว้” พราหมณ์พูดกับเขาว่า “พ่อหนุ่มเอ๋ย ท่านปรารถนาในสิ่งที่ไม่ควรปรารถนา เป็นคนโฉดเขลาแน่แท้ ข้าพเจ้าคิดว่า ท่านจักตายเสียเปล่า เพราะไม่มีใครไขว่คว้าพระจันทร์และพระอาทิตย์ได้เลย” เทพบุตรร้องไห้โฮก่อนจะพูดด้วยน้ำเสียงสะอึกสะอื้นต่อพราหมณ์ “บุคคลใดผู้ร่ำไห้ในสิ่งที่ปรากฏอยู่กับบุคคลผู้ร้องไห้ในสิ่งที่ไมปรากฏอยู่ บุคคลสองประเภทนี้ใครกันแน่ที่เป็นคนโฉดเขลา แม้การไปและการมาของพระจันทร์และพระอาทิตย์ก็ปรากฏอยู่ แสงแห่งพระจันทร์และพระอาทิตย์ก็ปรากฏอยู่ในวิถีทั้งสอง ส่วนชนที่ตาย ละโลกนี้ไปแล้ว ใครก็ไม่แลเห็น บรรดาเราทั้งสอง ผู้คร่ำครวญอยู่ในที่นี้ ใครจะเป็นคนเขลากว่ากัน” ฝ่ายพราหมณ์ก็หายโศกเศร้าจากความอาลัยในตัวบุตรชายจึงกล่าวยอมรับว่า “ท่านพูดจริงทีเดียว บรรดาเราทั้งสอง ผู้คร่ำครวญอยู่ในที่นี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้เขลากว่า ข้าพเจ้าอยากได้บุตรที่ทำกาลกิริยาแล้วให้คืนมา เป็นเหมือนทารกร้องไห้อยากได้พระจันทร์” พราหมณ์เป็นผู้หายโศก เพราะถ้อยคำของมาณพนั้น ได้กล่าวชมเชยเทวดาจำแลงว่า “ใจของข้าพเจ้าร้อนดังไฟสุม ท่านเป็นเหมือนบุคคลดับไฟที่ติดน้ำมันด้วยน้ำ ทำให้ข้าพเจ้าผู้ถูกความโศกครอบงำ บรรเทาความโศกถึงบุตรเสียได้ ท่านได้ถอนลูกศรคือความโศก อันเสียดหฤทัยข้าพเจ้าออกได้หนอ ข้าพเจ้านั้นเป็นผู้เย็นสงบแล้ว หายเศร้าโศก หายร้องไห้เพราะได้ฟังถ้อยคำของท่าน” เทวดาจำแลงยังได้เล่าว่าเมื่ออดีตชาติเขาคือบุตรชายของพราหมณ์ด้วยบุญกุศลแค่ทำใจให้น้อมเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า และบอกให้อดีตบิดาให้ทำใจเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเช่นกันแล้วกลับสู่เทวโลก เช้าวันต่อมาพราหมณ์ได้อาราธนา พระศาสดาพร้อมพระสงฆ์หมู่ใหญ่ ได้เสด็จไปสู่บ้านของพราหมณ์ ประทับนั่ง ณ ที่เขาตกแต่งแล้ว พิจารณาฉันอาหารที่พราหมณ์ประเคนด้วยความเคารพ เมื่อข่าวพราหมณ์ผู้มีมิจฉาทิฏฐิได้นิมนต์พระตถาคตมายังเรือนของตนแพร่ออกไป ได้มีประชาชนมาประชุมกันและแบ่งออกเป็น ๒ พวก คือพวกชนผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิประชุมกันด้วยตั้งใจว่าคอยดูพระสมณโคดมที่ถูกพราหมณ์เบียดเบียนอยู่ ด้วยการถามปัญหา และพวกชนผู้เป็นสัมมาทิฏฐิก็ประชุมกันด้วยตั้งใจว่าวันนี้ เราจักคอยดูพุทธวิสัย พุทธลีลา ลำดับนั้น พราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระตถาคตผู้ทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว นั่งบนอาสนะต่ำกว่า ได้ทูลถามว่า “พระโคดมผู้เจริญ จริงหรือที่ว่า เหล่าชนที่ไม่ได้ถวายทานแก่พระองค์ ไม่ได้บูชาพระองค์ ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้รักษาอุโบสถเลย แต่ได้ไปเกิดในสวรรค์ เพียงแค่ทำใจเลื่อมใสอย่างเดียวเท่านั้น?” พระศาสดาจึงตรัสว่า “ท่านทราบเรื่องนี้จากมัฏฐกุณฑลีเทพบุตรแล้วมิใช่หรือ?” จึงได้ตรัสต่อไปว่า “ใช่ว่าจะมีแค่ร้อยสองร้อย โดยที่แท้ เหล่าสัตว์ซึ่งทำใจให้เลื่อมใสในพระศาสดาแล้วไปเกิดในสวรรค์ย่อมนับจำนวนไม่ได้” มหาชนเมื่อได้ฟังแล้วก็เกิดความสงสัยว่าเป็นจริงหรือ พระพุทธองค์ทราบความข้อนั้น จึงทรงอธิษฐานจิตว่า “ขอมัฏฐกุณฑลีเทพบุตร จงมาพร้อมด้วยวิมานเถิด แล้วถอนความสงสัยของมหาชน” มัฏฐกุณฑลีเทพบุตร ผู้มีอัตภาพอันประดับแล้วด้วยเครื่องอาภรณ์ทิพย์ ลงมาจากวิมาน เฝ้าถวายบังคมพระศาสดาแล้วได้ยืน ณ ที่ควรข้างหนึ่ง แล้วประกาศว่า “ข้าพเจ้าได้ทิพย์สมบัติเหล่านี้ เพราะได้ทำใจให้เลื่อมใสในพระศาสดา” มหาชนแลดูเทพบุตรแล้ว ได้ประกาศความยินดีว่า “พุทธคุณช่างน่าอัศจรรย์จริงหนอ บุตรของพราหมณ์ไม่ได้ทำบุญอะไร ๆ อย่างอื่น แค่ยังใจให้เลื่อมใสพระศาสดาแล้วได้สมบัติเห็นปานนี้” ดังนั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ในการทำกรรมที่เป็นกุศลและอกุศล ใจเป็นหัวหน้า ใจเป็นใหญ่ เพราะว่ากรรมที่ทำด้วยใจอันผ่องใสแล้ว ย่อมตามบุคคลผู้ไปสู่เทวโลกมนุษยโลกดุจเงา ฉะนั้น” เมื่อพระพุทธองค์ตรัสพระคาถาที่อาตมภาพยกมาเป็นนิกเขปบทเบื้อต้นนั้นมัฏฐกุณฑลีเทพบุตรและอทินนปุพพกพราหมณได้บรรลุโสดาปัตติผล

สรุปความได้ว่า อันคนเรามีจิตอันเป็นกุศล มีเจตนาดีเป็นที่ตั้ง ทุการกระทำ ทุกคำพูดล้วนพลอยดีไปด้วย บังเกิดความเคยชินในการทำความดีซึ่งจะคอยป้องกันความชั่วร้ายทั้งปวงได้ เมื่อเป็นเช่นนี้บุคคลนั้นก็จะมีความสุขทุกอิริยาบถ เสมือนเงาที่ติดตามตัวอยู่เสมอ ว่าความสุขนั้นอยู่ในรูปของแก้ว แหวน เงิน ทองแต่ก็บังเกิดความสบายใจ ถ้าในเวลานี้ยังไม่สมหวังก็อย่าได้ท้อใจในการกระทำความดี อุปมาเหมือนเราปลูกผลหมากรากไม้ แม้ว่าจะหมั่นพรวนดินรดน้ำบำรุงรักษาดีเลิศเพียงใด หากยังไม่ถึงฤดูกาลก็ย่อมไม่ผลิดอกออกผล และเมื่อถึงเวลาของมันก็จะให้ผลของมันเองตามธรรมชาติ ท้ายที่สุดขอให้ทุกท่านประสบความสุขความเจริญด้วยพรทั้งสี่ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ รับประทานชี้แจงพระธรรมเทศนาก็สมควรแก่เวลาจึงขอยุติไว้เพียงเท่านี้ เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ

พี่วิถวายจตุปัจจัยบูชากัณฑ์ พระมหาบุญแก้วสวดอนุโมทนา บังเกิดกลิ่นหอมฟุ้งกรุ่นกำจายไปทั่วอาณาบริเวณศาลา กลิ่นนี้แม้จะเป็นกลิ่นหอมที่สกัดจากดอกไม้แต่หอมคนละแบบกับน้ำหอม และหอมเย็นยิ่งกว่าน้ำอบ น้ำปรุง ให้ความรู้สึกเหมือนดอกมะลิที่แช่แข็งเอาไว้ ขณะที่กำลังสูดดมกลิ่นหอมนี้กลิ่นก็หยุดหอมหายไปทันทีไม่เหมือนกับน้ำหอมทั่วไปที่ค่อยๆ จางหายลงราวกับกลิ่นหอมนี้ถูกกักเก็บในหีบและลั่นดาลเอาไว้มิให้กลิ่นเร้นลอด พระสงฆ์ที่ร่วมพิธีพูดคุยกระซิบกระซาบกัน ทันใดนั้นไฟทั้งศาลาดับพรึบลง เมื่อทุกคนอยู่ในความมืดจึงมีอาการตกใจ มีเสียงพึมพำๆ จากแขกเหรื่อที่มางานศพซึ่งกำลังจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ไม่ทันเท่าไหร่ไฟฟ้าในศาลาก็ติดพรึบสว่างเช่นเดิม พระสงฆ์จำนวน 8 รูปรีบขึ้นอาสนะสวดพระอภิธรรม แขกที่มาร่วมงานไม่อยู่เป็นสุขกลัวจะเกิดเหตุอกสั่นขวัญหายเป็นคราสาม ครั้นพระสวดจบอนิจจา รีบยกดอกไม้ธูปเทียนจตุปัจจัยถวายพระ กรวดน้ำยถาสัพพี กราบลาพระกล่าวนิมนต์พระสงฆ์ฉันเพลวันพรุ่ง ญาติๆ นำของว่างมาเสิร์ฟเป็นขนมเบเกอรี่ เสร็จพิธีผ่านไปหนึ่งราตรี แขกเหรื่อแยกย้ายกันกลับบ้านหลังจากรับประทานของว่างเสร็จ

แดนนอนเฝ้าสินอยู่หน้าโลงไม่ไปไหน ปราณีนอนหลับบนโซฟาไม้กรนครอกๆ แดนนิมิตฝันไปเห็นงานศพ เป็นกลางวัน แขกมางานเต็มศาลาทั้งบรรพชิตแลฆราวาส เสียงดนตรีไทยประโคมวิเวกโศกา แล้วแปรเปลี่ยนเป็นเพลงจังหวะเร็ว ตุ๊บทิงทิงทิง มีนางรำเหาะร่อนลงหน้าโลงศพ นางรำสวมชุดกินรีเต็มยศศิราภรณ์ทองคำ อาภรณ์เครื่องประดับเป็นสีทองงามอร่าม หน้าขาวไร้ดวงตา จมูกและปากหันหน้ามาที่แดน ทำเอาแดนรู้สึกขนลุกขนพองสยองเกล้า เพลงเปลี่ยนทำนองเป็นเพลงมโนราห์บูชายัญ นางรำผู้นั้นร่ายรำระบำมโนราห์บูชายัญได้อย่างงดงาม แดนมองดูอย่างเพลิดเพลินจากความกลัวกลายเป็นความหลงใหลในความงดงาม เหลือบมองไปบนโลงเห็นสินนั่งบนโลงศพชมระบำอย่างสุขใจ ระบำจบลง นางกินรีบินหนีหายไป สินก็อันตรธานหายไปเช่นกัน แดนตกใจตื่น ทุกอย่างเงียบเป็นปกติ ทั้งปราณีและญาติอีกสองสามคนนอนหลับเป็นปกติ ธูปดอกใหญ่หน้าโลงใกล้มอดดับ แดนต้องรีบต่อธูป แล้วเข้าครัวไปหาน้ำดื่ม เสียงนกแสกร่ำร้องแขวกๆ ทำเอาเขาเสียวสันหลังวูบ เขารีบกลับมาที่หน้าโลง มองดูภาพถ่ายหน้าโลงแล้วทอดถอนหายใจ เขาลุกเดินไปหลังโลงหยิบเก้าอี้มาตัวหนึ่งมาวางแล้วเหยียบขึ้นยืนมองดูศพของสินผ่านช่องกระจกตรงฝาโลงเย็น

เปิดพระโกศมิ่งมิตรพิศพักตร์ โศกสลักทรวงในฤๅทัยหมอง

สะอื้นอ้อนกรกอดพระโกศทอง ชลเนตรตกต้องพระปรางนาง

เอาผ้าทรงลงซับชลเนตร ภูวเรศมิได้คิดอางขนาง

ละห้อยโหยโรยแรงกันแสงพลาง โอ้ว่าปรางแม่ยังอุ่นละมุนมือ... [1]

“สินเอ๋ยสินทวี เรายังเคยไม่เคยบอกความรู้สึกที่แท้จริงเลยนะเว้ย เรารักแกนะสิน แกทำไมไม่อยู่รอเราบอกรักแกวะ เราไม่น่ารอเลย อายุอานามก็มากแล้ว จะรออะไรอีก แกเลยชิงตายไปก่อน แกอยากดูมโนราห์บูชายัญในวันเผา เราก็จะจัดให้ แกอยากจะให้เราทำอะไรอีกก็บอกมา จะไปในทันใด จะไปยืนเคียงข้างเธอ ไปอยู่ดูแลเป็นเพื่อนเธอ ให้เธอหมดความกังวลใจ จะไปในทันใด จะตรงไปจะใกล้ไกล ถ้าหากเป็นเธอจะรีบไป ให้เธอได้ความสบายใจ [2] ” แดนได้พูดความในใจแล้วปาดน้ำตาแล้วส่งยิ้มให้สิน แม้ว่าร่างกายของสินไม่อาจจะรับรู้ข้อความคำพูดที่แดนสื่อสารแล้ว สินยังคงรับรู้ได้ด้วยญาณวิถี แดนลงมาเก้าอี้ เขากลับมานอนตรงที่เดิม

 

 


[1] ต้นฉบับ นิทานคำกลอนสุนทรภู่ เรื่อง ลักษณวงศ์ กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ ครั้งที่ ๔ พุทธศักราช ๒๕๕๘ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม

 

[2] เพลง: ด้วยรักและผูกพัน ศิลปิน: เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ที่มา> https://www.sanook.com/music/song/I8c0_5pYLE5l4XHa0msCGQ==/