มากกว่าความรักของคนหนุ่มสาว คือแรงศรัทธาที่เพิ่มพูน
รัก,ผู้ใหญ่,ชอนตะวัน,แสงดาวไอดินอินเดีย,แสงดาว,ไอดิน,อินเดีย,รัก,ผู้ใหญ่,plotteller, ploteller, plotteler,พล็อตเทลเลอร์, แอพแพนด้าแดง, แพนด้าแดง, พล็อตเทลเลอร์, รี้ดอะไร้ต์,รีดอะไรท์,รี้ดอะไรท์,รี้ดอะไร, tunwalai , ธัญวลัย, dek-d, เด็กดี, นิยายเด็กดี ,นิยายออนไลน์,อ่านนิยาย,นิยาย,อ่านนิยายออนไลน์,นักเขียน,นักอ่าน,งานเขียน,บทความ,เรื่องสั้น,ฟิค,แต่งฟิค,แต่งนิยาย
แสงดาว ไอดิน อินเดียมากกว่าความรักของคนหนุ่มสาว คือแรงศรัทธาที่เพิ่มพูน
มากกว่าความรักของคนหนุ่มสาว คือแรงศรัทธาที่เพิ่มพูน กลิ่นอายความรักท่ามกลางความแตกต่าง ทั้งเรื่องฐานะ อายุ สถานภาพทางสังคม ที่อบอวลไปด้วยความดีงามภายในจิตใจของคนสองคน ก่อเกิดบนเส้นทางแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย 'ปฐวี' วิศวกร วัย 22 ปี รอเรียกเข้าทำงาน เดินทางไปประเทศอินเดีย เพื่อช่วยน้าสาวทำหน้าที่ลีดเดอร์ทัวร์ หัวใจของเขาต้องมาหวั่นไหว เมื่อได้พบดาราสาว เจ้าบทบาท 'ดวงรัศม์' ผู้ร่วมทริปครั้งนี้ แม้ทั้งสองคน พยายามปฏิเสธความต้องการของหัวใจ เพราะรับรู้ถึงความแตกต่าง และปัญหาที่จะตามมา แต่สุดท้าย ความรักที่เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อยท่ามกลางความเลื่อมใสศรัทธา กลับกลายเป็นความเข้าอกเข้าใจกันและกัน จนยากลืมเลือน....
'ชอนตะวัน' อีกหนึ่งนามปากกา ของ 'จุฬามณี' ผู้เขียน ชิงชัง กรงกรรม สุดแค้นแสนรัก ทุ่งเสน่า และ วาสนารัก
คำนำนักเขียน
(พิมพ์ครั้งแรก ปี พ.ศ. 2552 สนพ.simply love book)
เมื่อปี 2545 ประเทศไทยได้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วมาจากประเทศจีน ครานั้นทำให้ผู้เขียนมีความสนใจเรื่องพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุเจดีย์ จนกระทั่งตั้งจิตไว้ว่า จะต้องเดินทางไปสักการะ พระธาตุเจดีย์ทั่วโลกให้ได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่เมื่อได้มีเจตนาไปแล้ว การกระทำเพื่อให้ถึงจุดหมายจึงได้เริ่มต้นขึ้น นั่นก็คือเริ่มต้นจาก พระธาตุเจดีย์ในประเทศไทย...ค่อยๆ เก็บไปทีละองค์ แต่ว่าทุกองค์ที่ได้ไปกราบ ก็ได้ไปตั้งจิตไว้ว่า อยากไปตามรอยบาทพระบรมศาสดาที่ประเทศอินเดีย ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และใช้เงินมากเกินวัยเกินฐานะของเด็กหนุ่มวัยยี่สิบกว่าๆ จนกระทั่งได้อธิษฐานแบบลองของว่า
‘ขอให้ได้ไปตามรอยบาทของพระศาสดาที่อินเดียเป็นอัศจรรย์ด้วยเทอญ’
จะด้วยคำอธิษฐาน แรงปรารถนา หรือว่าบุญกุศลใดๆ มาส่งผล ทำให้ผู้เขียนได้ไปที่อินเดีย แบบอัศจรรย์ถึงสองครั้งสองครา
...ไปครั้งแรกเมื่อปี 2549 ก็คิดไว้ในใจว่า อยากเขียนนิยาย สักเรื่องที่ใช้ฉากสี่สังเวชนียสถาน แต่ก็ไม่ได้เข้าไปลุมพินีที่เนปาล เพราะว่าติดปัญหาทางการเมืองของประเทศเขา
แต่ถึงอย่างไรก็เริ่มวางพล็อตและคิดชื่อเรื่อง ตอนนั้นคิดว่าจะใช้ชื่อเรื่องอะไรถึงจะทำให้คนอ่านทราบตั้งแต่อ่านชื่อเรื่องเลยว่าเรื่องนี้ใช้ฉากอินเดียนะ จนกระทั่งรู้สึกประทับใจกับชื่อนิยายของเพื่อนนักเขียน งานนั้นเริ่มต้นที่ชื่อ ‘แสงดาว’ แต่งานของเราต้องการคำลงท้ายที่มีชื่อว่า ‘อินเดีย’
คิดอยู่นาน จนกระทั่ง คิดจะตั้งชื่อ ‘แสงดาวที่อินเดีย’ ถ้าตั้งอย่างนั้น คงหมายถึงพระสงฆ์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในอินเดีย ซึ่งน่าจะเข้ากับ ชื่อเรื่อง แต่ว่าเรื่องที่ตนเองได้วางพล็อตไว้ คอนเซ็ปไม่ใช่เรื่องของพระสงฆ์ที่ต้องหนักหนาสำหรับคนเขียนและคนอ่านแน่ๆ เราต้องการเขียนเพียง คนหนุ่มคนสาวคู่หนึ่งที่ไม่มีภูมิความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเลยสักนิด แต่ทั้งคู่ต้องไปเจอกันที่นั่นด้วยเหตุบางอย่าง และเหตุนั้นทำให้ทั้งสองคนผูกพันกัน จนขนาดที่ว่าความสูงต่ำทางอายุและฐานะไม่สามารถกั้นความรักได้
แล้ววันหนึ่ง ผู้เขียนก็ได้นั่งรถจากนครสวรรค์เพื่อไปเมืองโบราณ สมุทรปราการ ระหว่างที่ก็นั่งรถไป ท่องอยู่ในใจว่า แสงดาว อินเดีย แสงดาว อินเดีย...และชื่อหนึ่งก็ผุดขึ้นมาตรงกลางสองชื่อ ความเป็นตัวตนของพระเอกที่ต่างจากนางเอกผู้เป็นดาราสูงส่งเป็นอย่างมาก...
‘แสงดาว ไอดิน อินเดีย’
พอชื่อนี้วาบขึ้นมา ความรู้สึกแบบว่า...ใช่เลย ก็ตามมาด้วย...จากนั้นก็ยังรู้สึกตื้นตันใจและก็ปลาบปลื้มใจว่างานสืบสานอายุของพระพุทธศาสนาอีกชิ้นหนึ่งกำลังจะเกิดขึ้นด้วยฝีมือของเรา
จนกระทั่งความอัศจรรย์เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สองปี 2550 พี่สาวใจดีคนหนึ่ง ที่ได้รู้จักกันเมื่อครั้งที่ได้เดินทางไปอินเดียครั้งแรก โทรมาชวนให้ไปช่วยทำงาน...แบบพระเอกในเรื่องทำ ตอนนั้นลังเลว่าจะลาออกจากงานประจำดีไหม ..ถ้าเลือกเป็นนักเขียนอย่างเดียว มีโอกาสไส้แห้งแน่ๆ แต่ในที่สุด...เมื่อมีช่องทางไปตามรอยพระบาทให้ครบทั้งสี่ที่อีกครั้ง กับเก็บข้อมูลเขียนนิยายที่อยากเขียนมากๆ ...จึงตัดสินใจลาออก แบบคิดในใจว่ากลับมา ไม่มีจะกินก็ช่าง...แต่ว่าลึกๆ มั่นใจว่าไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะด้วยเดชแห่งบุญคงไม่ทำให้อดอยาก ช่วงนั้นมีบุญกฐินตลอดเดือน ก็อธิษฐานว่า...
‘ให้มีบริษัทละครตัดสินใจซื้อนวนิยาย ‘ชิงชัง’ นามปากกา
‘จุฬามณี’ ไปสร้างละครทีเถอะ’ เหตุผล เพราะจะได้มีเงินไปทำบุญ กับกลับมาจะได้มีเงินประทังชีวิต...และก่อนจะเดินทางไปเพียงไม่กี่วัน ค่ายละคร บริษัทเอ็กแซ็กท์ ที่ไม่เคยคิดเลยว่าเขาจะสนใจงานแนวลูกทุ่งพีเรียดจะติดต่อมาขอซื้อในวันนั้น ...เลยได้เงินก่อนไป กลับมามีเงินใช้ นั่งทำงานเขียนสบายๆ ตลอดปี 51...ไม่รู้จะเรียกว่าบุญหรือเปล่า?
ไปแล้วกลับมาก็ยังเขียนไม่ได้ ไปเขียนเรื่องอื่น เพราะกลัวทำออกมาอย่างที่ตั้งใจไว้เสียสูงส่งไม่ได้ จนกระทั่งคิดว่า ถ้าไม่เริ่มก็ไม่รู้ปัญหาถ้าไม่เริ่มเรื่องก็ไม่จบในฤดูพรรษาของปี 2551 งานชิ้นนี้จึงเริ่มต้นขึ้นด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธาและก็ตระหนักว่ารักต้องหวาน เอาใจตลาด แรกทีเดียวตั้งใจจะค่อยๆ คิดและทำไปให้ถึงสิ้นปี แต่ก็รวดเร็วกว่าที่ได้คิดไว้...จนกระทั่งได้นำไปโพสต์ไว้ในบล็อกแก๊งค์...
-Thanks for the good story that you wrote. I insist that your writing are different from other people. Keep up the good work.
-ขอบคุณอีกครั้งที่เขียนเรื่องดีๆ ให้ได้อ่าน ผมชอบเรื่องนี้มากนะครับ มีแง่คิดดีๆ มากมาย และเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาที่ไม่น่าเบื่ออีกด้วย ขอชมจากใจจริงว่าเก่งมากๆ ครับ
-สนุกดีนะ ทำให้มองเห็นการใช้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถนำธรรมะมาปรับใช้ได้
-เรื่องนี้ขอบอกว่าอ่านแล้วทำให้ความอยากไปอินเดียปะทุขึ้นมาอีก มีกลุ่มทัวร์ไหนแนะนำไหมคะ ดิฉันอยากไปมาก แรกๆ คิดว่าจะไปแบกเป้เอง แต่ยังไม่พร้อม เพราะต้องศึกษาเยอะ ช่วงนี้ไม่มีเวลามากนัก อ่านเรื่องของคุณแล้วรู้สึกว่าไม่ควรรอ (อีกต่อไปแล้ว) ค่ะ
-เรื่องนี้ทำให้ความฝันที่รันเคยอยากไปอินเดียมาตลอด กลับมาอีกครั้ง คุณเฟื่องเก่งจังค่ะที่สามารถนำเรื่องพุทธศาสนามาเขียนเป็นเรื่องในงานเขียนของคุณ ให้คนอ่านสามารถอ่านไปได้เรื่อยๆ แบบไม่น่าเบื่อ ได้ความบันเทิง ได้ความเข้าใจ ได้แนวทางแบบค่อยซึมซับฯลฯ
ครับเป็นกำลังใจเล็กๆ ที่ตอบกลับมา แต่ก็มีหลายเสียงที่แตกต่างออกไปทำนองว่า...กลัวศาสนา กลัวข้อมูลหนักๆ ที่ยังไม่อยากจะรู้ เพราะยังไม่แก่ตัวจนต้องคิดพึ่งศาสนา จนกระทั่งคนเขียนลังเลว่าจะเอาออกดีไหม มีแต่รักล้วนๆ ดีไหม สาระไม่ต้อง จนกระทั่งได้ไปไหว้พระที่วัดระฆังฯ ขณะทดท้อห่อเหี่ยวกับต้นฉบับ ก็ได้มองเห็นหนุ่มสาววัยรุ่นถือธูปเทียนทอง ดอกไม้ เดินกันไปมา...เอ้า...ใช่ว่าวัยรุ่นวุ่นรักจะไม่สนใจศาสนา พวกเขาสนใจ แต่ว่ามันยังไม่มีสื่อที่ทำให้เขาสนใจจนเข้าใจหรือเปล่า...ความปลาบปลื้มใจแล่นเข้ามา...เออ งานรักที่มีกลิ่นของพระพุทธศาสนา ที่ทำไปแล้ว มันดีแล้ว ถูกทางแล้ว...
จนกระทั่ง นำต้นฉบับไปให้อาจารย์ท่านหนึ่งที่เป็นนักอ่านนิยายมานาน ท่านก็บอกว่า ‘ฉันรู้สึกว่ามันจะได้พิมพ์รวมเล่มอย่างรวดเร็วเพราะมันมีมากกว่านิยายรักหวานซึ้ง’
จนกระทั่งสำนักพิมพ์ Simply books ได้พิจารณาและก็ได้ให้คำตอบรับอย่างรวดเร็วตามที่อาจารย์ท่านได้เอ่ยปากบอกไว้...
สุดท้ายขอขอบคุณทุกๆ ท่านที่ทำให้ผู้เขียนมี ‘วันดีดีที่อินเดีย’ จนได้
ขอบคุณครับ
ชอนตะวัน (จุฬามณี-เฟื่องนคร)