ชาติกำเนิดไม่อาจบ่งชี้ชีวิตคน เรื่องราวของ บุษบา ลูกสาว ของหวาน เพื่อนเรณู และเรื่องราว ของประณต ลูกชาย เรณู จากเรื่อง กรงกรรม

บุษบาตาคลี - บทที่ 1 บุษบาตาคลี - 1 โดย จุฬามณี @Plotteller | พล็อตเทลเลอร์

รัก,ชาย-หญิง,ผู้ใหญ่,บุษบาตาคลี,จุฬามณี,รัก,plotteller, ploteller, plotteler,พล็อตเทลเลอร์, แอพแพนด้าแดง, แพนด้าแดง, พล็อตเทลเลอร์, รี้ดอะไร้ต์,รีดอะไรท์,รี้ดอะไรท์,รี้ดอะไร, tunwalai , ธัญวลัย, dek-d, เด็กดี, นิยายเด็กดี ,นิยายออนไลน์,อ่านนิยาย,นิยาย,อ่านนิยายออนไลน์,นักเขียน,นักอ่าน,งานเขียน,บทความ,เรื่องสั้น,ฟิค,แต่งฟิค,แต่งนิยาย

บุษบาตาคลี

หมวดหมู่ที่เกี่ยวข้อง

รัก,ชาย-หญิง,ผู้ใหญ่

แท็คที่เกี่ยวข้อง

บุษบาตาคลี,จุฬามณี,รัก

รายละเอียด

บุษบาตาคลี โดย จุฬามณี @Plotteller | พล็อตเทลเลอร์

ชาติกำเนิดไม่อาจบ่งชี้ชีวิตคน เรื่องราวของ บุษบา ลูกสาว ของหวาน เพื่อนเรณู และเรื่องราว ของประณต ลูกชาย เรณู จากเรื่อง กรงกรรม

ผู้แต่ง

จุฬามณี

เรื่องย่อ

“ ชาติกำเนิด ไม่อาจบ่งชี้ ชีวิตคน!”

นี่คือวลีเด็ดที่ตอกย้ำความเป็นตัวตนของ “บุษบา” ให้ก้าวข้ามความทุกข์ความทดท้อใจกับการเกิดมาเป็น “ลูกเมียเช่า” แม้ต้องถูกคนปรามาสว่า “ก็แม่เป็นอย่างไร ลูกก็เป็นอย่างนั้น เหมือนลูกไม้ย่อมหล่นใต้ต้น… ยายก็มีหลายผัว แม่ก็เป็นอย่างนั้น แล้ว “บุษบา” จะไม่เป็นเหมือนแม่ หรือยายได้อย่างไร  “บุษบา” ที่เกิดมาสวยด้วยมีพ่อเป็นฝรั่งต่างชาติ เป็นทหารขับเครื่องบินรบกับเวียดนาม แม่มาตายจากไปตั้งแต่บุษบายังเล็ก จึงโตมากับยายแหวนผู้มากชาย และมากความรู้ความสามารถในการทำขนม และอาหารหลากหลาย ซึ่งได้สั่งสอนให้บุษบาเรียนรู้เพื่อเป็นอาชีพในอนาคตและสอนไม่ให้เป็นคนมีนิสัยจับจด คิดฝันแต่ใช้รูปโฉมเพื่อรวยทางลัด งานบ้านงานเรือนต้องหยิบจับเป็น รู้จักรับผิดชอบชีวิตเป็นอย่างดี และความกตัญญูกตเวทีที่บุษบามีต่อนางแหวนนั้นไม่สูญเปล่าในวันที่ชีวิตตกต่ำ ความดีนั้นย่อมสนองกลับมาในรูปแบบของความเมตตาจากผู้ใหญ่ทุกฝ่าย “บุษบาตาคลี” ผลงานเล่มล่าสุดจากนักเขียนหลากรางวัล ที่ไม่เคยสร้างความผิดหวังให้กับนักอ่านตลอดเส้นทางที่อยู่ในวงการน้ำหมึก ซึ่งการันตีโดยหลายเรื่องได้ถูกนำไปสร้างเป็นละครให้ตราตรึงใจในทุกตัวละครจนยากจะลืมเลือน

 

*นวนิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นจากจินตนาการ โดยใช้ฉากเป็นสถานที่จริง หากชื่อตัวละครหรือเหตุการณ์ไปเกี่ยวข้องกับบุคคลใด ผู้เขียนขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

 

สารบัญ

บุษบาตาคลี-จากใจนักเขียน จุฬามณี,บุษบาตาคลี-บทที่ 1 บุษบาตาคลี - 1,บุษบาตาคลี-บทที่ 2 บุษบาตาคลี - 2,บุษบาตาคลี-บทที่ 3 บุษบาตาคลี - 3,บุษบาตาคลี-บทที่ 4 บุษบาตาคลี - 4,บุษบาตาคลี-บทที่ 5 บุษบาตาคลี - 5,บุษบาตาคลี-บทที่ 6 บุษบาตาคลี - 6,บุษบาตาคลี-บทที่ 7 บุษบาตาคลี - 7,บุษบาตาคลี-บทที่ 8 บุษบาตาคลี - 8,บุษบาตาคลี-บทที่ 9 บุษบาตาคลี - 9,บุษบาตาคลี-บทที่ 10 บุษบาตาคลี - 10,บุษบาตาคลี-บทที่ 11 บุษบาตาคลี - 11,บุษบาตาคลี-บทที่ 12 บุษบาตาคลี - 12,บุษบาตาคลี-บทที่ 13 บุษบาตาคลี - 13,บุษบาตาคลี-บทที่ 14 บุษบาตาคลี - 14,บุษบาตาคลี-บทที่ 15 บุษบาตาคลี - 15,บุษบาตาคลี-บทที่ 16 บุษบาตาคลี - 16,บุษบาตาคลี-บทที่ 17 บุษบาตาคลี - 17,บุษบาตาคลี-บทที่ 18 บุษบาตาคลี - 18,บุษบาตาคลี-บทที่ 19 บุษบาตาคลี - 19,บุษบาตาคลี-บทที่ 20 บุษบาตาคลี - 20,บุษบาตาคลี-บทที่ 21 บุษบาตาคลี - 21,บุษบาตาคลี-บทที่ 22 บุษบาตาคลี - 22,บุษบาตาคลี-บทที่ 23 บุษบาตาคลี - 23,บุษบาตาคลี-บทที่ 24 บุษบาตาคลี - 24,บุษบาตาคลี-บทที่ 25 บุษบาตาคลี - 25,บุษบาตาคลี-บทที่ 26 บุษบาตาคลี - 26,บุษบาตาคลี-บทที่ 27 บุษบาตาคลี - 27,บุษบาตาคลี-บทที่ 28 บุษบาตาคลี - 28,บุษบาตาคลี-บทที่ 29 บุษบาตาคลี - 29,บุษบาตาคลี-บทที่ 30 บุษบาตาคลี - 30,บุษบาตาคลี-บทที่ 31 บุษบาตาคลี - 31,บุษบาตาคลี-บทที่ 32 บุษบาตาคลี - 32,บุษบาตาคลี-บทที่ 33 บุษบาตาคลี - 33,บุษบาตาคลี-บทที่ 34 บุษบาตาคลี - 34,บุษบาตาคลี-บทที่ 35 บุษบาตาคลี - 35,บุษบาตาคลี-บทที่ 36 บุษบาตาคลี - 36,บุษบาตาคลี-บทที่ 37 บุษบาตาคลี ตอนจบ

เนื้อหา

บทที่ 1 บุษบาตาคลี - 1

๑.

ต้นปีพุทธศักราช ๒๕๓๐

บุษ...บุษ เอ๊ย ตื่นได้แล้วลูก จะตีห้าแล้ว ลุกไปล้างหน้าแปรงฟัน จะได้ไปขายของกัน” เสียงปลุกด้วยน้ำเสียงอารีของผู้เป็นยายไม่ส่งผลให้บุษบาที่นอนซุกตัวอยู่ใต้ผ้าห่มผืนใหญ่ที่ซ้อนกันสองชั้นรู้สึกตัวจนขยับร่างกาย ออกมาเผชิญความหนาวเย็นของอากาศนอกมุ้งแต่อย่างใด กระทั่งนางแหวนลงจากเรือนไปที่โอ่งใส่น้ำซึ่งตั้งอยู่หลังบ้าน ล้างหน้าแปรงฟันเสร็จเรียบร้อย เดินกลับขึ้นเรือน มองผ่านผ้าม่านลายดอกที่ใช้บังตากั้นความเป็นสัดส่วนของเรือนไม้ขนาดเสาสิบสองต้น ไปยังมุ้งของหลานสาววัยสิบห้าปี ซึ่งถือว่าเป็นวัยกำลังกินกำลังนอน และอาการนอนหลับอุตุ โดยไม่มีทีท่าว่าจะตื่นมาช่วย กันทำมาหากิน ตามความต้องการของนาง ที่ปลุกตั้งแต่ลุกมากดสวิตช์ไฟฟ้าให้แสงสว่าง อารมณ์จากเย็นตามสภาพอากาศช่วงต้นปี ก็กลับเป็นเหมือนไฟจากกองฟางที่ใช้ผิงกันหนาว เสียงอารีประหนึ่งเสียงนางฟ้าเมื่อก่อนหน้า จึงเปลี่ยนเป็นเสียงของนางยักษ์ทันที

“อีบุษ อีบุษ อีห่ากิน หลายบุษแล้วนะ ไม่ลุกซะที ตีสักที       ดีไหมมึงฯ” 

ถ้อยคำแสลงหูเร้าอารมณ์มาเป็นสายธาร และดังคับบ้านเหมือนเปิดลำโพงขยาย โดยไม่ได้สนใจคนที่นอนอยู่ในห้อง หรือคนบ้านใกล้เรือนเคียงกัน ทำให้เด็กสาวที่เพิ่งทำบัตรประชาชนไม่ถึงขวบปีสะดุ้งพรวด ตวัดผ้าห่มออกจากตัว รีบออกจากมุ้ง แสดงอาการแบบลิงหลอกเจ้าวิ่งหลบมือที่ง้างจะตีแล้วผลุบลงบันไดพลางบอกว่า “ออกไปแต่เช้ามืด ใครที่ไหนจะมาซื้อล่ะยาย หนาว ๆ แบบนี้ กว่าจะแจ้ง กว่าพระจะออกบิณฑบาต”

“คนมาไม่มา พระจะบิณไม่บิณ ก็ต้องออกไปให้มันตรงเวลาที่เคยไป ทำมาหากิน มัวรอเวลาได้รึ  เร็ว ๆ เลยนะ อย่าให้กูต้องมีน้ำโหหนักกว่านี้”

บุษบารีบแปรงฟันล้างหน้าแบบลวก ๆ วางขันลงที่ปากโอ่งเด็กหญิงก็ถามยายว่า “ขอหนูเข้าส้วมก่อนได้ไหมยาย หนูปวดท้อง”

“แล้วตะกี้ มึงทำไมไม่ปวด ถ้ามึงปวดตั้งแต่กูเปิดไฟ ป่านนี้ก็จะไปได้ละ”

“ก็มันเพิ่งปวด ของแบบนี้ มันเอาแน่ได้รึยาย” ว่าแล้วเจ้าหล่อนก็รีบวิ่งไปยังห้องส้วมที่ปลูกแยกออกไปจากตัวบ้าน

“เรื่องกระบิดกระบวนละเป็นที่หนึ่ง” บ่นพลางนางแหวนก็ตรวจทานของบนรถเข็นที่อยู่หน้าครัวซึ่งปลูกเป็นเพิงแยกจากตัวบ้าน...เพราะถ้าลืมอะไรไป นอกจากจะต้องเสียเวลาให้บุษบาวิ่งจากตลาดมาเอาไป นางแหวนก็รู้อยู่แก่ใจว่าอย่าให้หลานสาวไกลหูไกลตา และอย่าปล่อยน้ำตาลไว้ใกล้มดเด็ดขาด กันไว้ดีกว่าแก้ นั่นคือ คติที่       นางแหวนระลึกตั้งแต่หลานสาวกำพร้าฉายแววสวยแปลกผิดจาก      ผู้หญิงไทยในตลาดตาคลี!

ช่วง สี่ ห้า ปี มานี้ บุษบาต้องตื่นแต่เช้ามืดมาช่วยยายแหวนติดเตาไฟและช่วยแคะขนมครกอยู่จนถึงเจ็ดโมงเช้า ถึงจะรีบวิ่งกลับไปบ้านเพื่อแต่งตัวไปโรงเรียนที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านมากนัก 

และด้วยใช้แรงงานหลานสาวให้ช่วยทำมาหากินอย่างเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่อยู่ชั้น ป.๔ ป.๕ 

บางคนก็บอกนางแหวนว่า เด็กกำลังกินกำลังนอน ก็ควรได้นอนให้เต็มที่ เพราะการนอนจะทำให้เด็กเจริญเติบโตขึ้นมาด้วยสรีระที่สมบูรณ์ รวมถึงจะทำให้สมองปลอดโปร่งตลอดทั้งวัน เพื่อจะทำให้เรียนหนังสือได้เก่ง ๆ  

บ้างก็บอกกับนางแหวนว่าบุษบาลูกของ ‘หวาน’ ลูกสาวคนกลางของนางแหวนที่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ ระหว่างอยู่ที่กิโลสิบ  สัตหีบ ชลบุรี ใกล้ ๆ กับสนามบินอู่ตะเภา จ.ระยอง เมื่อสิบปีก่อน     ยิ่งโตก็ยิ่งสวยแปลกผิดจากเด็กไทยทั่วไป เพราะนอกจากเส้นผมและดวงตา สีน้ำตาล ผิวสีขาวจนแดง  บุษบาก็มีสรีระที่สูงกว่าเด็กไทยอีกด้วย

และความสวยแปลก ก็ทำให้นางแหวนถูกปรามาสอีกว่า      ไม่แคล้ว คงจะได้ขายหลานกินอีกคน เช่นที่เคยขายแม่ของบุษบามาแล้ว หรือไม่ แม่หลานสาวคนนี้ ก็คงไม่พ้นจากปากเหยี่ยวปากกา ซึ่งเป็นสามีใหม่ของแหวน ซึ่งมีอายุน้อยกว่านางแหวนเกือบสิบปีเป็นแน่แท้

จึงเป็นที่มาของการบังคับให้ออกมาช่วยกันทำงานเพื่อกันไว้ดีกว่าแก้ และถึงแม้จะใช้วิธีการอ้างให้เข้าท่าเข้าทาง นายบุญเลี้ยง ผัวคนปัจจุบันวัยห้าสิบปี ก็ค่อนขอดว่าระแวงไม่เข้าเรื่อง นางแหวนฉลาดพอที่จะไม่ต่อปากต่อคำ แต่ก็บอกเหตุผลไปว่า มันโตแล้ว          ก็อยากให้มันพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญเมื่อไม่มีเงินส่งเสียให้มันได้เรียนต่อเมื่อจบ ม.๓ ในปีนี้ ก็ควรหาอาชีพไว้ให้มันไว้เลี้ยงตัวเอง และจะได้ช่วยกันปลดเปลื้องหนี้สินก้อนโตด้วย...

 

“อีแหวน เงินดอกเบี้ยของกูว่าไง” ระหว่างที่ง่วนอยู่หลังเตาขนมครก นางแหวนก็ยิ้มแหย ๆ ให้นางปรานี เจ้าแม่เงินกู้ และเท้าแชร์ ผู้ไม่เคยมีความปรานีเหมือนชื่ออันไพเราะซึ่งกำลังเดินเก็บดอกเบี้ยในตลาดสดแห่งนี้เช่นที่เห็นอยู่ทุกช่วงเช้าสายของวัน ถ้าวันไหน        นางปรานีติดธุระ นางก็จะให้ ‘ลูกน้อง’ ที่ฝนเขี้ยวเล็บไว้คมมากทำหน้าที่แทน...

นางปรานีกับนางแหวนเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกัน รู้จักมักคุ้นกันมานาน คำพูดคำจา จึงมีความชัดเจนทางความรู้สึก จะว่าหยาบก็หยาบ แต่ถ้าใช้มธุรสวาจาก็จะกลายเป็นดัดจริตไปเสียอีก

“อ้าปาก ก็เห็นลิ้นไก่แล้ว”

“กูยังไม่ได้พูดอะไรเลยนะ”

“จะผ่อนดอก ผ่อนต้น เท่าไหร่ก็ผ่อนมา” บอกพลาง           นางปรานีก็เหลือบไปมองหน้าของหลานสาวคนสวยของนางแหวน...

“หลานมึง ยิ่งโต ก็ยิ่งสวย เลี้ยงให้ดีละกัน”

ด้วยพอรู้ว่านางปรานีจะพูดถึงเรื่องอะไรต่อ นางแหวนจึงรีบตัดบท “วันนี้มีให้แค่สิบบาทก่อนได้ไหม”

“เมื่อวานมึงก็ให้กูมาแค่สิบบาท ให้กูจดบวกเป็นต้นสิบบาท บอกตรง ๆ นะอีแหวน กูปวดหัวกับระบบบัญชีของมึงจะแย่อยู่แล้ว ดอกเบี้ย วันละแค่ยี่สิบ มึงก็จ่ายมาให้มันครบ ๆ เหมือนคนอื่นเขา ผ่อนต้นได้ มึงก็ต้องผ่อนบ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้มันเป็นดินพอกหางหมูอยู่อย่างนี้”

“กูมีเรื่องต้องใช้” นางแหวนเสียงอ่อยลง

“จำเป็นทุกคนแหละ แต่กูบอกมึงไว้ก่อนนะ ถ้าดอกทบต้น จนมันท่วมราคาบ้านมึง กูยึดบ้านมาขายทอดตลาด มึงไม่มีที่อยู่ จะหาว่ากูไม่เตือน ไม่มีเมตตา ไม่ปรานี มึง ไม่ได้นะ”

“เออ รู้แล้วนะ”

ได้เงิน ๑๐ บาทเป็นค่าดอกเบี้ยแล้วนางปรานีก็เดินจากไปเก็บดอกเบี้ยจากรายอื่น ๆ กระทั่งนางปรานีออกไปจากบริเวณหน้าตลาด นางแหวนถ่มน้ำลายลงพื้น มองตามไปด้วยสายตาขุ่นเคือง 

เคืองเพราะ นางปรานีเป็นคนบ้านเดียวกับนางแหวน ทำไร่ทำนาขุดดินดายหญ้าเก็บของป่า เรียนหนังสือมาด้วยกัน เพียงแต่โชคและวาสนาของนางปรานีมีมากกว่าใคร ๆ  

เพราะเมื่อแตกเนื้อสาว ช่วงว่างเว้นจากการช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา หรือช่วงที่พอมีของป่าอย่างน้ำผึ้งและผักหญ้าของพื้นบ้าน พอได้หาบคอนมานั่งขายในตลาดด้วยกันในช่วงเช้าตรู่หน้าตลาดเช้าหรือถ้าขายไม่หมดก็เร่ขายไปตามบ้านเรือนตึกแถวย่านการค้าของตลาดบน ความสวยงามของนางปรานีก็ไปต้องชะตากับผู้ช่วยนายสถานีรถไฟตาคลี จากกล้วยไม้ป่า นางปรานีจึงกลายเป็นคุณนายปรานี  ครั้นได้ผัวเป็นฉัตรแก้วกั้นเกศ ดวงชะตาของนางปรานีก็ยังพุ่งไม่หยุด เพราะถนนพหลโยธินตัดผ่านที่ดินของพ่อนางปรานี ทำให้ที่ดินที่ขนานไปกับถนนทั้งสองฝั่ง มีราคาสูงขึ้นไปด้วย บางส่วนสังข์พ่อของนางปรานีก็แบ่งขายเพื่อนำเงินมาจับจองที่ดินในย่านตลาดศรีเทพ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าตลาดล่าง เพราะเล็งเห็นว่าในอนาคตความเจริญจะขยายจากฝั่งตลาดบนซึ่งมีพื้นที่จำกัดข้ามฟากมาอีกฝั่งของสถานีรถไฟ และการมองการณ์ไกลเป็นไปตามคาด เมื่อมีคหบดี       ยกที่ดินสร้างศูนย์ท่ารถ ตลาดล่างหรือตลาดศรีเทพ จึงถูกพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่บัดนั้น และที่สำคัญ ในช่วงที่ทางการยินยอมให้ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้กองบิน ๔ เป็นฐานทัพรบกับเวียดนามเหนือ ตั้งแต่ปี ๒๕๐๗ ถึง ๒๕๑๘ ยิ่งทำให้ผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลเข้ามา     ขุดทองที่ตาคลี 

นางปรานีซึ่งมีเงินทั้งจากฝั่งครอบครัวเดิมของสามี และมรดกเดิมที่พ่อยกให้ก็ร่ำรวยยิ่งขึ้น ๆ 

ผับบาร์ ร้านอาหาร สถานเริงรมย์ บ่อนการพนัน ที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด นับนิ้วแทบไม่ถ้วน มีชื่อนางปรานีเข้าไปเอี่ยวไปหุ้นอยู่ถึงสิบแห่ง บังกะโล ห้องเช่าที่ให้บรรดานายทหารฝรั่งเช่าให้เมียเช่าอยู่บำรุงบำเรอความสุข หรือเช่าไว้สำหรับพาโสเภณีมาเริงสำราญแทนการไปเปิดโมเต็ลก็มีของปรานีไม่รู้จักกี่ที่  นอกจากนั้นนางปรานีก็ยังเป็นแม่เล้าหากินกับผู้หญิงมากหน้าหลายตามาก่อน ทำให้นางปรานีมีสายตาที่มองเห็นความสวยงาม และเห็นราคาของผู้หญิงที่ยืนอยู่ตรงหน้า ได้ยินสำเนียง สบสายตาและเห็นอากัปกิริยา นางปรานีก็สามารถทำนายอนาคตว่าจะต้องไปในทางดีหรือทางเลว หรือควรจะไปทางไหนชีวิตถึงจะได้ดี

จึงเป็นที่มาที่ทำให้นางแหวนต้องตัดบท เมื่อนางปรานีเอ่ยปากชมว่าบุษบายิ่งโตก็ยิ่งสวย

เพราะความสวย นอกจากเป็นคุณ นางแหวนก็รู้ดีว่า อาจจะนำภัยมาให้ได้เช่นกัน...เพราะนางแหวนเองก็ใช่ว่า จะเป็นคนขี้ริ้วขี้เหร่แต่อย่างใด...

เมื่อตอนเป็นสาวรุ่น ความสวยทำให้นางแหวนมีผู้ชายมาหมายปองมากหน้าหลายตา ครั้นเห็นว่านางปรานีใช้ความสวยเป็นใบเบิกทาง พาชีวิตสูงขึ้น นางแหวนก็หวังโอกาสนั้นบ้าง  และ       นางแหวนในวัยหกสิบเอ็ดปี ก็ได้แจ้งแก่ใจ คำคนโบราณว่า แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แข่งบุญแข่งวาสนาแข่งไม่ได้ เพราะความสวยประหนึ่งดอกเอื้องดง ทำให้นางแหวนถูกสมุนของเสือร้ายโจรปล้นฉุดคร่า ระหว่างไปตักน้ำจากหนองน้ำท้ายไร่ ไปบำรุงบำเรอความสุขความปรารถนาของมัน สังข์แม่ซึ่งเป็นแม่ม่ายเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะไปต่อกรกับเสือร้ายยื้อแย่งลูกสาวคืนมา และนางก็เสียสาวให้เป็นข่าวฉาวไปเสียแล้ว แม่จึงจำใจเพียงให้พากันกลับมาขอขมาผูกข้อมือเลี้ยงผีตามประเพณี แล้วก็ให้นางแหวนกลับไปอยู่กับโจรในดงโจร 

อยู่กันได้สองปีกว่า มีลูกด้วยกันหนึ่งคน แม้จะไม่ได้รักใคร่ไยดีเป็นทุนเดิม แต่คนเราเมื่ออยู่ด้วยกันฉันผัวเมีย ก็ผูกพันกลายเป็นรัก แฝงไปด้วยความเจ็บแค้นใจในที่สุด อยู่ต่อมาไม่นานหัวหน้าโจรก็พาลูกน้องออกปล้นเขากินตามประสาเสือร้าย สุดท้ายระหว่างทำการปล้น ผัวของนางแหวนก็ถูกเจ้าของทรัพย์ยิงตาย นางแหวนรู้ข่าวว่าทางการจะมาทลายซ่องโจรแล้วตัวเองจะมีความผิดติดตัวไปด้วย จึงได้หอบลูกชายกลับมาอยู่บ้านท่ามกลางเสียงค่อนขอดของพี่ ๆ น้อง ๆ นางแหวนรู้สึกรำคาญใจ และคิดว่าชีวิตน่าจะมีทางไปได้ดีกว่าอยู่บ้าน นางจึงทิ้งลูกไว้กับแม่ แล้วเข้ามาอยู่ในตลาดตาคลี โดยหวังพึ่งใบบุญของนางปรานีเพื่อนที่เคยเล่นหัวกันมาตั้งแต่จำความได้ แต่นางปรานีก็ช่วยได้เพียงหางานที่อื่นให้ และประโยคผลักไสระคนเมตตาปรารถนาดี นางแหวนก็ยังจำได้ดี... 

‘กูก็ยังไม่ได้ร่ำรวยขนาดจะต้องมีคนรับใช้ให้ช่วยเลี้ยงลูกซักผ้าถูบ้านอะไรหรอกนะอีแหวน แต่เอาอย่างนี้ละกัน เดี๋ยวกูจะพาไปฝากให้เป็นลูกจ้างที่ร้านเจ๊กให้ เผื่อบุญวาสนามึงจะพอมีได้ผัวดีกว่าสมุนเสือปล้น’

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ กำลังระอุ กองบิน ๔ เพิ่งเริ่มก่อสร้าง ทหารญี่ปุ่นเพ่นพ่านอยู่ทั่วเมือง  นางแหวนเป็นลูกจ้างอยู่ในร้านเจ๊กรับซื้อพืชไร่ได้ปีกว่า ๆ ก็ต้องลาออก เหตุเพราะนางแหวนที่ตกพุ่มม่ายตั้งแต่ยังสาวทำให้เมียเถ้าแก่หึงหวง ก่อนออกจากงาน นางแหวนปรึกษานางปรานีเช่นเคย นางปรานีก็แนะนำห้องเช่าซึ่งเป็นเรือนแถวสร้างจากไม้ชั้นเดียวราคาถูก และใช้บารมีของผัวนางปรานีทำให้  นางแหวนขายของกินเล่นพวกกล้วยทอดมันทอดที่หน้าสถานีรถไฟ และก็ขายของบนขบวนรถไฟช่วงที่รถหยุดรับส่งผู้โดยสาร โดยที่เจ้าถิ่นคนขายอยู่เดิม ไม่สามารถทำอะไรนางแหวนได้ 

ตรงนี้ ถือเป็นบุญเป็นคุณที่นางแหวนไม่มีวันลืม โดยเฉพาะที่สถานีรถไฟตาคลีแห่งนี้ ทำให้นางแหวนได้พบกับพนักงานห้ามล้อ พ่อของหวาน ซึ่งใคร ๆ ก็รู้ดีว่าเขาไม่ใช่คนตัวเปล่า แต่ด้วยคารมคมคายประกอบกับความเหงาตามประสาคนเคยผ่านการมีผัวนอนกกกอด หลังไปมาหาสู่ คบหาดูใจจนกลายเป็นขี้ปากชาวบ้านอยู่เกือบปี นางแหวนก็ยอมเป็นเมียน้อย เป็นบ้านอีกหลังของเขา เพราะหวังความสบาย หวังยึดเขาเป็นที่พึ่งพิง และพาตัวเองไปสู่สังคมที่สูงขึ้น ซึ่งพอตกล่องปล่องชิ้นไปแล้ว นางแหวนก็พึ่งเขาได้เพียงเศษเงิน และก็อยู่กินหลับนอนกับเขาแบบแบ่งเศษเวลาที่เหลือจากทำงานซึ่งมีอยู่น้อยนิดอยู่แล้ว และนางแหวนก็มารู้ความจริงว่า ตนเองไม่ใช่บ้านหลังที่สองหรือสามของเขา แต่เป็นบ้านหลังที่เท่าไหร่ ก็ไม่อาจทราบได้ 

  ตอนนั้นนางแหวนนึกอยากจะเลิกราเปลี่ยนผัวใหม่เสียให้รู้แล้วรู้รอด แต่นางก็เห็นแก่หน้าลูกทั้งสอง 

หวาน กับ ถวิล...กลายเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของนางแหวน แทนสามีที่ต้องแบ่งปันกับสตรีไม่รู้กี่คนต่อกี่คน และนางแหวนก็หวานอมขมกลืน ด้วยไม่สามารถใช้สิทธิ์ใด ๆ ในความเป็นเมียของเขาและไม่มีสิทธิ์หึงหวงในตัวของเขาได้เหมือนคู่ผัวตัวเมียทั่วไป...

ข้อดีของเขาก็มี แม้เขาจะมีหลายบ้าน แต่เขาก็ยังรับผิดชอบนางแหวนและลูกตลอดมา ค่าเช่าบ้าน  ค่ากิน ค่าอยู่ และค่าเสื้อผ้าชุดนักเรียน หนังสือเรียน เขาหยิบยื่นให้ตรงเวลา แต่ก็ไม่พอให้ฟุ่มเฟือยหาของที่เพ้อฝันถึงมาบำรุงบำเรอความสุขได้

นางแหวนเฝ้าอดทน ขายของที่สถานีรถไฟเพราะบารมีผัวนางปรานีและผัวของตน มาเป็นเวลาสิบปีกว่า ท่ามกลางความฝันถึงบ้านหลังเล็ก ๆ ในที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ตัวเอง ไม่ต้องอยู่ห้องเรือนแถวเก่าแก่แออัด และหวังเห็นหวานกับถวิล ได้เรียนหนังสือต่อจนจบสูงกว่าชั้น ป.๗ และรับราชการมีเงินเดือนมีชีวิตที่ดีกว่านาง และความฝันนั้นก็ดูจะริบหรี่ ตอนหวานอยู่ชั้น ป.๔  เขาก็บอกกับหวานว่าจะไม่ให้เรียนต่อ ให้หวานออกมาช่วยแม่ทำมาค้าขาย พออายุมากกว่านี้ค่อยเข้ากรุงเทพฯ ไปหางานในโรงงานทำ อนาคตของนางแหวนที่หวังไว้กับหวานดับวูบลง...แน่นอนว่าชีวิตของถวิลก็จะต้องเป็นไปทางเดียวกับพี่สาว แต่ถวิลเรียนเก่งกว่าหวาน และฝันไว้สูงมากกว่า ถวิลจึงต่อรองว่า “พ่อจ๋า ถ้าแม่ มีพี่หวานช่วยแล้ว ก็ขอหนูเรียนต่อได้ไหม จบ ม.ศ.๓ ก็ยังดี หลังจากนั้น หนูจะดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองเอาเอง”

“ก็แล้วแต่พวกมึงจะตัดสินใจเถอะ โต ๆ กันแล้ว กูเองก็จะเกษียณแล้ว...เหนื่อยมามาก อายุมากขึ้น ก็อยากพักผ่อนสบาย ๆ บ้าง” 

นอกจากจะใกล้เกษียณจากงานรถไฟ เขาก็บอกกับนางแหวนว่า บ้านใหญ่ได้ยื่นคำขาดว่าหลังเกษียณ ถ้ายังประพฤติตัวเป็นหมาหลายราง หรือคนหลายบ้านเช่นเมื่อครั้งทำงานขึ้นล่องไปกับขบวนรถไฟ บ้านใหญ่ที่ใช้สิทธิ์ภรรยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีบ้านพักสวัสดิการให้อยู่ที่สถานีปากน้ำโพ มีเงินช่วยเหลือค่าเทอมของบุตร ค่ารักษาพยาบาลตลอดมาจนลูกเรียนจบได้ทำงานมั่นคง เลี้ยงดูแม่เป็นอย่างดีจะตัดหางเขาปล่อยวัด แก่ตัวไป ถ้าเมียน้อยตามรายทางรถไฟทั้งหลายของเขา ดูแลสุขทุกข์ของเขาไม่ได้ เขาจะไม่มีทางได้กลับไปตายรังอย่างแน่นอน 

พูดง่าย ๆ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เขาได้บอกเลิกกับนางแหวนอย่างเป็นทางการ และอนุญาตให้นางแหวนมีผัวใหม่ได้ และเลี้ยงดูลูกไปตามกำลังของตน ตอนนั้นนางแหวนไม่ได้ร้องไห้ฟูมฟาย เพราะสิบปีที่ผ่านมา ใจมันไม่ได้รักอย่างเพ้อฝัน ใจมันด้านชาทุกข์ทรมานจากการรอคอยวันเวลาที่เขาจะว่างเว้นจากภารกิจการงานหลวง             งานราษฎร์ที่ห้ามเอ่ยปากถามถึง ทุกอย่างที่ดำเนินมา ไปตามหน้าที่ของ  ‘แม่’ ของผู้หญิงคนหนึ่งที่จะต้องหยัดยืนด้วยลำแข้งตัวเองให้ได้ในสักวัน และนางแหวนที่เห็นนางปรานีเจริญรุ่งเรืองเป็นลำดับ ๆ     ก็ปลงใจได้ว่าวาสนาของตนน้อยนัก แต่นางแหวนก็ไม่นึกย่อท้อต่อชะตาตัวเอง เพราะเมื่อต้นทุนมีน้อย ถ้าขาดความเพียรเสียแล้ว ชีวิตก็จะยิ่งต้องย่ำอยู่ในโคลนตมต่อไป ทางเดียวที่จะขยับฐานะของตัวเองสูงขึ้นได้บ้างก็คือต้องส่งลูกสาวทั้งสองเรียนให้จบชั้นสูงที่สุด 

หลังเห็นว่านางแหวนเลิกกับผัวที่ทำงานรถไฟได้อย่างเด็ดขาด นางปรานีก็เข้ามาในชีวิตของนางแหวนอีกรอบ เริ่มจาก     นางแหวนเข้าไปขอคำปรึกษาเรื่องการเรียนของหวานและถวิล ในทำนองที่ว่า อยากส่งลูกสาวสองคนให้ได้เรียนต่อ เพราะที่ไร่ที่นาส่วนที่ตัวเองพึงจะได้จากแม่ พี่ ๆ น้อง ๆ ก็ขอให้ตนยกให้ลูกชายคนโตไปแล้ว ปัจจุบันตัวเองก็ไม่มีไร่มีนา ไม่มีกิจการร้านค้าใด ๆ ให้ลูกสาวสืบทอด เหลือก็เพียงจะให้วิชาความรู้ ติดตัวแก่ลูกทั้งสองไปได้เท่านั้น นางปรานีที่นิ่งคิดอยู่นานก็บอกว่า 

“ได้ กูจะช่วยมึง เท่าที่กูจะช่วยได้ กัดฟันอีก ๕ - ๖ ปี ให้พวกมันจบ ม.ศ.๕ ซะ อย่างน้อยพวกมันก็จะได้ไปสู่โลกกว้างอย่างคนมีอาวุธ แต่ปัญหาชีวิตมึง กูว่ามันก็ยังพอมีทางออก”

“ทางไหนบ้างล่ะ”

“มึงก็ยังสาวยังแส้ หาผัวใหม่ ช่วยเลี้ยงดูลูกสิอีแหวน”

“กูสามสิบกว่าแล้วนะ ผู้ชายดี ๆ รุ่นราวคราวเดียวกันที่ไหน มันจะยังเป็นโสดทั้งแท่ง ถ้ามีใหม่ก็คงไม่แคล้วเป็นเมียน้อยเขาอีก”

“ก็ใช่ว่าไม่เคยเป็น แต่เป็นคราวนี้ มึงก็เลือกเฟ้นให้มันดีกว่าคนเดิมหน่อย เลือกคนที่เขาพอจะมีฐานะค้ำจุนมึงได้จริง ๆ”

“ตาคลีแคบแค่นี้ เกิดไปสมยอมใครเขาไป เดี๋ยวเมียหลวง มันจะมาแหกอกกูเอา”

“ก็หาจับไอ้คนที่มันไกลลูกไกลเมีย มีเนื้อมีหนังให้มึงแทะเล็มสิวะ”

ตอนนั้นนางแหวนนิ่งคิดถึงทางลัดที่จะทำให้ชีวิตสุขสบายขึ้นกว่าเดิมเพียงเล็กน้อย เพราะรู้ดีว่า มันคงยากที่จะเจอเสี่ยใหญ่กระเป๋าหนักรักจริง จนทุ่มเทให้ เมื่อรู้ว่าเป้าหมายยากจะเอื้อมถึง ภวังค์นั้น นางแหวนก็รู้ตัวดีว่า นาที่แล้งน้ำ มันเป็นอย่างไร สู้เล่นกับชะตาชีวิตอีกสักตั้ง ได้ไม่ดีก็ทิ้งแล้วมีใหม่อย่างที่ นางปรานีคิดไว้ให้ แต่นางแหวนก็ยังมีความละอายที่จะพูดอย่างที่ใจคิด จึงได้แต่นิ่งฟังนางปรานีร่ายความคิดอ่านต่อไป...

“เอาอย่างนี้ ต่อไป มึงก็แต่งเนื้อแต่งตัวให้มันสดใสสดชื่นกว่าเดิมหน่อย ไอ้พวกรถไฟ มึงตัดทิ้งไปได้เลย ผัวชาวบ้านในเขตนี้ มึงก็ไม่ต้องไปสน...เดี๋ยวกูจะหาผัวใหม่ที่พูนพร้อมมาให้มึงเอง”

“มึงจะหาจากที่ไหน”

“ระหว่างนายทหารในกองบิน นายช่างขุดคลอง พวกสร้างทาง ตัดถนน พวกมาทำงานโรงปูน มึงอยากได้ใครเป็นผัวคนถัด ๆ ไป”

ได้ฟังประโยคคำถามที่เหมือนทำได้ง่าย ๆ จากปากนางปรานีผู้กว้างขวาง และเริ่มมีอิทธิพลในตาคลี ทำให้นางแหวนต้องเปรยว่า “ถัด ๆ ไป”

“มึงจำคำกูไว้นะอีแหวน ชีวิตมึง ไม่ต้องดูดวงที่ไหน ก็รู้แล้วว่าไม่มีทางได้ผัวดีเป็นฉัตรแก้วกั้นเกศกับเขาได้หรอก เพราะฉะนั้น ถ้ามึงจะต้องมีอีกกี่ผัว เปลี่ยนอีกกี่ผัว มึงก็ระลึกไว้แค่ว่า จะมีเพื่อผลประโยชน์ของมึงเท่านั้น มึงยังสาวยังแส้จะปล่อยตัวให้แห้งเหี่ยวเป็นนาขาดน้ำฝนอยู่ทำไม มึงท่องไว้ ระลึกไว้ ว่าลูกมึง ต้องมีความรู้ มึงต้องมีบ้านช่องอยู่ ใครให้อะไรมึงได้มากที่สุด มึงเอาคนนั้น ใครเข้ามาแล้ว ไม่ทำให้ชีวิตมึงดีขึ้น ถีบหัวส่งได้ ถีบมันไป”

“ลูก ๆ มันจะขาดศรัทธาในตัวกูหรือเปล่า” เอาเข้าจริง ๆ      คำว่า ‘แม่’ ทำให้นางแหวนมีความลังเล

“ขาดก็ช่างมันปะไร รึมึงอยากให้ลูกมึง เป็นแค่ลูกแม่ค้าหาบเร่แผงลอย แล้วสุดท้าย พวกมันก็หาผัวเป็นพวกกุลีแถวตาคลีนี่ได้เท่านั้น อ้อ อย่างไร เรื่องที่พวกมันก็เป็นลูกเมียน้อย มันก็ลบไปจาก สารบบชีวิตมันไม่ได้หรอกนะ...อย่างไรคนก็รู้กันทั้งตาคลี แล้วถ้าแม่มัน จะเป็นเมียน้อยอีกสักครั้งสองครั้ง มันก็คงไม่ทำให้พวกมันทุกข์ร้อนอะไรนักหรอก”

หลังคล้อยตามความคิดของนางปรานีได้ไม่กี่วัน นางปรานีก็พาผัวคนที่สามของนางแหวนเข้ามาในชีวิต เขาเป็นนายช่างควบคุมการขุดคลองชัยนาท-ป่าสัก หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าคลองอนุศาสนนันท์ เพียงเห็นหน้าผู้ชายคนนี้ นางแหวนนึกรักมากกว่าคนที่สองเพราะเขาเป็นหนุ่มใหญ่ผมสีดอกเลาตัวสูงใหญ่ ผิวพรรณสะอาดสะอ้าน แต่งตัวดี  หลังอยู่กินกันอย่างลับ ๆ ได้ปีกว่า ๆ โดยที่เขามารับนางแหวนไปหลับนอนอยู่ที่แคมป์คนงาน เขาก็ซื้อที่ดินสำหรับปลูกบ้านให้หนึ่งแปลง  แต่อีกหนึ่งปีถัดมา จบโครงการขุดคลองในเขตนั้น เขาก็หายลับเข้ากลีบเมฆ...

แม้ไม่ได้บอกลาอย่างเป็นทางการเหมือนผัวคนที่สอง แต่   นางแหวนก็เข้าใจได้เองว่า ชีวิตนี้จะต้องเปลี่ยนผัวไปอีกกี่คน ก็ต้องเปลี่ยน!