ชาติกำเนิดไม่อาจบ่งชี้ชีวิตคน เรื่องราวของ บุษบา ลูกสาว ของหวาน เพื่อนเรณู และเรื่องราว ของประณต ลูกชาย เรณู จากเรื่อง กรงกรรม

บุษบาตาคลี - บทที่ 5 เป็นสาวแล้ว จ้า.... โดย จุฬามณี @Plotteller | พล็อตเทลเลอร์

รัก,ชาย-หญิง,ผู้ใหญ่,บุษบาตาคลี,จุฬามณี,รัก,plotteller, ploteller, plotteler,พล็อตเทลเลอร์, แอพแพนด้าแดง, แพนด้าแดง, พล็อตเทลเลอร์, รี้ดอะไร้ต์,รีดอะไรท์,รี้ดอะไรท์,รี้ดอะไร, tunwalai , ธัญวลัย, dek-d, เด็กดี, นิยายเด็กดี ,นิยายออนไลน์,อ่านนิยาย,นิยาย,อ่านนิยายออนไลน์,นักเขียน,นักอ่าน,งานเขียน,บทความ,เรื่องสั้น,ฟิค,แต่งฟิค,แต่งนิยาย

บุษบาตาคลี

หมวดหมู่ที่เกี่ยวข้อง

รัก,ชาย-หญิง,ผู้ใหญ่

แท็คที่เกี่ยวข้อง

บุษบาตาคลี,จุฬามณี,รัก

รายละเอียด

บุษบาตาคลี โดย จุฬามณี @Plotteller | พล็อตเทลเลอร์

ชาติกำเนิดไม่อาจบ่งชี้ชีวิตคน เรื่องราวของ บุษบา ลูกสาว ของหวาน เพื่อนเรณู และเรื่องราว ของประณต ลูกชาย เรณู จากเรื่อง กรงกรรม

ผู้แต่ง

จุฬามณี

เรื่องย่อ

“ ชาติกำเนิด ไม่อาจบ่งชี้ ชีวิตคน!”

นี่คือวลีเด็ดที่ตอกย้ำความเป็นตัวตนของ “บุษบา” ให้ก้าวข้ามความทุกข์ความทดท้อใจกับการเกิดมาเป็น “ลูกเมียเช่า” แม้ต้องถูกคนปรามาสว่า “ก็แม่เป็นอย่างไร ลูกก็เป็นอย่างนั้น เหมือนลูกไม้ย่อมหล่นใต้ต้น… ยายก็มีหลายผัว แม่ก็เป็นอย่างนั้น แล้ว “บุษบา” จะไม่เป็นเหมือนแม่ หรือยายได้อย่างไร  “บุษบา” ที่เกิดมาสวยด้วยมีพ่อเป็นฝรั่งต่างชาติ เป็นทหารขับเครื่องบินรบกับเวียดนาม แม่มาตายจากไปตั้งแต่บุษบายังเล็ก จึงโตมากับยายแหวนผู้มากชาย และมากความรู้ความสามารถในการทำขนม และอาหารหลากหลาย ซึ่งได้สั่งสอนให้บุษบาเรียนรู้เพื่อเป็นอาชีพในอนาคตและสอนไม่ให้เป็นคนมีนิสัยจับจด คิดฝันแต่ใช้รูปโฉมเพื่อรวยทางลัด งานบ้านงานเรือนต้องหยิบจับเป็น รู้จักรับผิดชอบชีวิตเป็นอย่างดี และความกตัญญูกตเวทีที่บุษบามีต่อนางแหวนนั้นไม่สูญเปล่าในวันที่ชีวิตตกต่ำ ความดีนั้นย่อมสนองกลับมาในรูปแบบของความเมตตาจากผู้ใหญ่ทุกฝ่าย “บุษบาตาคลี” ผลงานเล่มล่าสุดจากนักเขียนหลากรางวัล ที่ไม่เคยสร้างความผิดหวังให้กับนักอ่านตลอดเส้นทางที่อยู่ในวงการน้ำหมึก ซึ่งการันตีโดยหลายเรื่องได้ถูกนำไปสร้างเป็นละครให้ตราตรึงใจในทุกตัวละครจนยากจะลืมเลือน

 

*นวนิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นจากจินตนาการ โดยใช้ฉากเป็นสถานที่จริง หากชื่อตัวละครหรือเหตุการณ์ไปเกี่ยวข้องกับบุคคลใด ผู้เขียนขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย

 

สารบัญ

บุษบาตาคลี-จากใจนักเขียน จุฬามณี,บุษบาตาคลี-บทที่ 1 นางแหวน แม่ของหวาน ยายของบุษบา,บุษบาตาคลี-บทที่ 2 ลูกเมียน้อย ลูกเมียเก็บ,บุษบาตาคลี-บทที่ 3 ดอกไม้ริมทาง,บุษบาตาคลี-บทที่ 4 ครอบครัวนางปรานี,บุษบาตาคลี-บทที่ 5 เป็นสาวแล้ว จ้า....,บุษบาตาคลี-บทที่ 6 คู่วุ่นวัยหวาน,บุษบาตาคลี-บทที่ 7 ลุงพีช,บุษบาตาคลี-บทที่ 8 ประณต อัศวรุ่งเรืองกิจ,บุษบาตาคลี-บทที่ 9 ปลาวาฬ กับ เสือน้อย,บุษบาตาคลี-บทที่ 10 แม่สื่อแม่ชัก,บุษบาตาคลี-บทที่ 11 ลูกชายแม่เรณู,บุษบาตาคลี-บทที่ 12 พรรณราย,บุษบาตาคลี-บทที่ 13 คนโตทันกัน,บุษบาตาคลี-บทที่ 14 ฟ้าใหม่ ชีวิตใหม่,บุษบาตาคลี-บทที่ 15 บ้านอัครเดช,บุษบาตาคลี-บทที่ 16 วันแรกในกรุงเทพ ฯ,บุษบาตาคลี-บทที่ 17 บุพเพสันนิวาส หรือ เป็นเรื่องเวรกรรม! ,บุษบาตาคลี-บทที่ 18 ลองฝืนใจตัวเองดูสักตั้ง,บุษบาตาคลี-บทที่ 19 ในสายตาของบุษ บุษว่าลุงแก่ไหม,บุษบาตาคลี-บทที่ 20 ชาติกำเนิดไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตของใคร,บุษบาตาคลี-บทที่ 21 ดับแสงดาว,บุษบาตาคลี-บทที่ 22 ปมรัก รอยอดีต,บุษบาตาคลี-บทที่ 23 รักที่ต้องจากลา,บุษบาตาคลี-บทที่ 24 ศักดิ์ชาย ชัยสิทธิ์,บุษบาตาคลี-บทที่ 25 ความลับในลิ้นชัก,บุษบาตาคลี-บทที่ 26 เพรงรักอสูร,บุษบาตาคลี-บทที่ 27 สุขสันต์วันวิวาห์,บุษบาตาคลี-บทที่ 28 อ้อมกอดที่รอคอย,บุษบาตาคลี-บทที่ 29 ฮันนี่มูน,บุษบาตาคลี-บทที่ 30 รักในมุมมืด,บุษบาตาคลี-บทที่ 31 โลกใบนี้ไม่มีอะไรแน่นอน,บุษบาตาคลี-บทที่ 32 คนเราไม่ได้ดี เลว เพราะคำของใครหรอก,บุษบาตาคลี-บทที่ 33 หากมีใครสักคน รักเรา โดยที่ไม่ได้สนใจ พื้นฐานของเรา,บุษบาตาคลี-บทที่ 34 เลือดคนตาคลี,บุษบาตาคลี-บทที่ 35 สิทธิ์หัวใจ,บุษบาตาคลี-บทที่ 36 สมัยนี้ หรือสมัยไหน ผู้ชายเขาไม่ได้ถือสาเรื่อง ผู้หญิงผ่านมือผู้ชายมาแล้วหรอก,บุษบาตาคลี-บทที่ 37 ตอนจบ แฮปปี้ เอ็นดิ้ง

เนื้อหา

บทที่ 5 เป็นสาวแล้ว จ้า....

๕.

ผละจากร้านขายขนมครกของยายแหวน บุษบาก็รีบเดินกลับมาที่บ้าน ซึ่งมีนายบุญเลี้ยงสามีคนปัจจุบันของยายแหวนนอนหลับอุตุอยู่ แม้จะนึกหวาดหวั่นว่านายบุญเลี้ยงจะลุกขึ้นมาทำมิดีมิร้ายอย่างที่ยายคอยกระซิบบอกให้ระวังตัว แต่ชีวิตของบุษบาในยามนี้ ก็ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า  และความเสี่ยงนี้ น่าจะอยู่กับบุษบาไปอีกไม่นาน อีกเดือนกว่า ๆ ก็จะสอบไล่ภาคเรียนสุดท้ายของมัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยบุษบาเป็นคนหัวไม่ดีนัก ผลการสอบอยู่ที่ลำดับกลาง ๆ ค่อนไปทางท้ายแถวของเด็กทั้งห้อง ยายแหวนจึงมีความเห็นว่า ป่วยการที่จะให้เรียนต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น จบแล้วก็คงไปสอบแข่งขันบรรจุรับราชการอย่างน้าถวิลไม่ได้ แต่เมื่อ  เด็ก ๆ ในตลาดส่วนใหญ่ ต้องได้เรียนต่อ เพราะไม่มีไร่นาสาโทให้ลูกหลานประกอบอาชีพ เช่นคนที่อยู่รอบนอกตัวอำเภอ ยายแหวนก็วางแผนไว้ว่าหลังเรียนจบ ม.๓ จะให้บุษบาเข้ากรุงเทพฯ ไปหาทำงานโรงงาน ถ้าบุษบารักเรียน ก็หาลู่ทางเรียนในแบบการศึกษานอกโรงเรียน 

...บุษบารู้ดีว่า มันเป็นเพียงข้ออ้าง แท้จริงที่ยายแหวนไม่ให้บุษบาเรียนต่อ เป็นเพราะภาระหนี้สินและดอกเบี้ยรายวันรายเดือนของยายมากพอดู หนี้ก้อนนั้นเกิดจากลุงของบุษบาที่ไปก่อเรื่องมีคดีกัญชาจนต้องวิ่งเต้นเสียค่าปรับ ค่าทำให้โทษหนักเป็นเบาเป็นเงินหลายหมื่นบาท และยายแหวนก็ยังเป็นหนี้จากการเล่นหวยหวังรวยทางลัด เป็นลูกแชร์ที่ท้าวแชร์หลายเจ้าตามเก็บค่าแชร์อยู่ตลอดเดือน ประกอบกับตาบุญเลี้ยงทำงานรับจ้างรายวัน เช่นพวกงานก่อสร้างต่อเติมบ้าน สุดแต่ผู้รับเหมาจะมีงานและก็แล้วแต่อารมณ์ของตาบุญเลี้ยงด้วย เพราะถ้ามีเงิน ตาก็จะไปบ่อนไก่ ดูมวยตู้ หรือไม่ก็เล่นไพ่ เล่นไฮโล ดื่มพอเป็นกระสาย จึงยิ่งทำให้ยายชักหน้าไม่ถึงหลัง

ยายแหวนบอกกับบุษบาว่า “เป็นเพราะยายได้บ้านหลังนี้มาจากเงินร้อน คนในบ้านก็เลยอยู่แล้วมีแต่เรื่องร้อนใจไม่ได้คลายแบบนี้”

แน่นอนว่า บุษบา จึงต้องซักถามต่อว่า “ร้อนอย่างไรหรือยาย”

“ก็ที่ดิน ก็ได้มาจากการเป็นเมียน้อยเขา  ตัวบ้านก็ได้มาด้วยการเป็นเมียน้อยเหมือนกัน เมียหลวงเขารู้ เขาก็คงสาปแช่งไว้ มันไม่ได้มาด้วยความสุจริตอย่างงานค้าขาย”

“แต่คนให้เขาก็เต็มใจให้ไม่ใช่หรือยาย”

“ตอนให้ เขาเต็มใจให้ทั้งสองคนแหละ  แต่ถึงอย่างไร มันก็ต้องมีผลกระทบถึงเมียเขาที่ถือว่าเป็นคนคนเดียวกัน เขาก็คงสาปแช่งเอา”

“แต่ก็ไม่เคยมีใครมาชี้หน้าด่ายายถึงที่ตาคลีไม่ใช่รึจ๊ะ”

“ไม่มีหรอก แต่บาปกรรมมันก็คือบาปกรรม ถึงแม้ตอนนั้น ยายจะไม่ได้หลอกเขา แต่ขึ้นชื่อว่า ลักกินขโมยกิน หรือยินดีกินน้ำใต้ศอก อย่างไรมันก็เป็นบาป ไม่มีความสุขได้อย่างเต็มที่ได้หรอก เอ็งเองก็เหมือนกัน ต่อไป เดินให้มันตรงทาง อย่าเอาความสวยแปลกจากผู้หญิงไทยทั่ว ๆ ไป ไปหลอกเอาของของใครเขารู้ไหม”

“แล้วถ้าเขาให้หนูแบบเต็มใจให้ล่ะยาย”

“ผู้ชายที่มันให้ ก็เพราะมันหวังจะได้ตัวเอ็งนั่นแหละ ถ้าเอ็งไม่คิดจะไปจริงจังอะไรกับเขา เอ็งก็อย่าไปรับของเขาง่าย ๆ แต่ถ้ามันให้เพราะมันมีเยอะ ก็รับไว้เป็นบางชิ้นบางอัน รับเป็นบางโอกาส แล้วถ้าเขายังไม่มีพันธะ มันก็เหมือนคนจีบกันนั่นแหละ แต่ถ้าเขามีลูกมีเมียแล้วให้เพราะจะหวังเอาเอ็งไปเป็นเมียน้อย เมียเก็บ เอ็งอย่าไปยุ่งด้วยเด็ดขาด รู้ไหม”

ตอนนั้นบุษบานิ่งเงียบ

“บุษเอ๊ย ยายกับแม่เอ็งก็เป็นผู้หญิงไม่ดีในสายตาคนทั้งตาคลีไปแล้ว ตอนนี้เอ็งยังมีทางเลือก ยังไม่พลาด เอ็งก็ต้องเลือกเฟ้นผู้ชายให้มาก ๆ เข้าไว้ ที่สำคัญ เอ็งอย่าไปรักใครให้มาก อย่าไปหลงลมปากของใครเด็ดขาด”

  “ลมปากคืออะไร”

“ก็ผู้ชายปากดี ดีแต่ปาก แต่นิสัยแย่ ๆ ไม่มีความเป็นผู้นำ     รักตัวมันเองมากกว่ารักเรา  ดูตาเลี้ยงเอ็งเป็นตัวอย่าง”

“ก็เมื่อตาเขาไม่ดี ทำไมยายถึงไม่เลิกกับเขาเสียให้รู้แล้วรู้รอดไป”

“ก็อยู่ด้วยกันไปแล้ว มันก็ยากที่จะเลิกรากัน”

บุษบาจำได้ว่าตอนนั้น ยายแหวนถอนหายใจ บุษบาก็พอรู้เห็นพฤติกรรมของนายบุญเลี้ยงผัวปากดีของยายแหวน และไหนจะคำพูดของผู้ใหญ่รอบ ๆ ตัว ที่เข้าหูซ้ายทะลุหูขวานั่นอีก แม้ยายจะไม่อธิบายว่าทำไมจะต้องอดทน และไม่ไล่ผู้มาอาศัย และนิสัยไม่ดีออกจากบ้านไป บุษบาก็พอเข้าใจ...

‘ผัวเด็กกว่าเมีย’ 

‘เมียแก่กว่าผัว’

ไหนจะเสียงที่ดังเล็ดลอดมาจากห้องของยายในยามค่ำคืน ทำให้บุษบาเข้าใจ...เรื่องที่ผู้ใหญ่คุยกันจนเหมือนบุษบานั้น โตเกินตัว

กลับถึงบ้านบุษบาก็รีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าซึ่งนำมาลงไว้ข้างล่างตั้งแต่ตอนเย็นเช่นเดียวกับกระเป๋าหนังสือ เพราะยายบอกให้ระวังตัว ให้พยายามหลีกเลี่ยงที่จะอยู่กับตาเลี้ยงในที่ลับหูลับตาคน ซึ่งบุษบาก็ทำได้ดีตลอดมา เพราะนอกจากยายแหวน ก็ยังมีป้าเรียมผู้เป็นเพื่อนบ้านอีกคนที่รู้เห็นความเป็นมาของยาย ของแม่หวาน ให้ความเป็นห่วงเป็นใย และพอมีโอกาสป้าเรียมซึ่งเป็นเพื่อนเล่นกับแม่หวานตั้งแต่เด็ก ก็เล่าให้บุษบาฟังในเรื่องที่ยายไม่ได้เล่า...

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแม่หวานกับลุงวิจักษ์ ลูกชายคนโตของยายปรานี ซึ่งเป็นรักแรกของแม่หวาน รวมถึงเหตุการณ์ ที่ทำให้ชีวิตของแม่หวานต้องใช้ผัวเดียวกับยาย และช่วงที่แม่กลับมาอยู่ตาคลีในยุคที่ตาคลีรุ่งเรืองเพราะทหารจีไอ ป้าเรียมก็เล่าให้บุษบาฟังจนหมดสิ้น...

“ป้าเอง ถ้าไม่มีพ่อแม่คอยกำราบ ก็อาจจะเผลอไผล ไปทำอย่างแม่เอ็งเหมือนกันแหละ เพราะกลิ่นเงินมันหอม แต่ว่าไป จะว่าแม่เอ็งเห็นแก่เงินก็ไม่ได้หรอกนะบุษ ชีวิตคนเรามันพลาดไปถึงขนาดใช้ผัวคนเดียวกับแม่ได้แล้ว เรื่องขายตัวเพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้น ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรหรอก และก็ไม่ใช่เฉพาะแม่ของเอ็งคนเดียวซะเมื่อไหร่ที่เป็นเมียเช่าฝรั่ง เป็นพาร์ทเนอร์ ผู้หญิงจากไหนบ้างก็ไม่รู้ ต่างแห่แหนมาหากินที่ตาคลี จนที่นี้เป็นอำเภอที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศจนมีนักแต่งเพลงลูกทุ่งนำไปใส่ไว้เนื้อเพลงฯ”

ป้าเรียมเล่าเรื่องของแม่หวาน ในมุมที่ยายแหวนไม่ได้เล่า ให้บุษบาฟังเยอะแยะมากมาย รวมถึงเรื่องของพ่อบุษบาที่เป็นฝรั่งหัวแดงด้วย... “กับไอ้จอห์น มันก็รักใคร่กันดีอยู่ แต่พอแม่เอ็งตั้งท้อง ไอ้จอห์นมันอายุสั้น ขับเครื่องบินไปทิ้งระเบิดที่เวียดนาม ดันถูกสอยร่วง เอ็งก็เลย ไม่มีพ่อ เหมือนคนอื่น ๆ  เขา”

ตอนเป็นเด็ก บุษบายังจำได้ดี ถึงบทบาทหน้าที่ของ มูลนิธิเพิร์ล เอส บัค ที่เข้ามาเพื่อดูแล ปัญหาเด็กลูกครึ่งมีพ่อเป็นคนเชื้อชาติอเมริกันและมีแม่เป็นคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามเวียดนาม หลังสงครามสงบ เพื่อนที่วิ่งเล่นด้วยกันในมูลนิธิหลาย ๆ คน โชคดีที่พ่อมารับแม่และเจ้าตัวกลับไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และก็มีอีกหลายต่อหลายคน ที่ได้รับการส่งเสียเลี้ยงดูจากพ่อที่อยู่ห่างไกลคนละขอบโลก แต่บุษบาและเด็กอีกหลาย ๆ คน ไม่ได้โอกาสนั้น เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อ ด้วยแม่นอนกับผู้ชายมากหน้าหลายตา แต่มูลนิธิฯ ก็ให้การช่วยเหลือ สนับสนุนเรื่องทุนการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง

สำหรับบุษบา เรื่องปมปัญหาในโรงเรียนก็มีบ้าง แต่ก็ไม่ได้รุนแรงเท่ากับเด็กผิวสีแทน ผิวสีดำลูกครึ่ง  อเมริกันนิโกร  เพราะเด็กในโรงเรียนส่วนใหญ่ของโรงเรียนระดับชั้นปฐมศึกษาและมัธยม ศึกษาที่บุษบาเรียนอยู่นั้นก็มีพื้นฐานทางครอบครัวที่ไม่แตกต่างกันนัก ถ้าจะมี ก็เป็นเรื่อง การดูแคลน เมื่อบุษบาโตขึ้น และมีความสวยผิดจากคนอื่น ๆ จนเกิดเป็นความอิจฉาริษยา จนกระทั่งไปงัดภูมิหลังของแม่ของยายขึ้นมาล้อเลียนให้ต้องเจ็บช้ำน้ำใจ อาทิ บ้างก็บอกว่า แม่หวานไม่ได้ตายเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์ แต่เป็นการน็อคยาตาย ติดโรคร้ายตาย จนถึงกับว่าแม่ถูกฆาตกรรมอำพรางคดีที่สัตหีบก็มี จนกระทั่งมีการลงไม้ลงมือตบตีกันจนกลายเป็นปัญหา ซึ่งบุษบาก็ไม่ได้นำกลับมาฟ้องยายแหวน หรือบอกเล่าให้ป้าเรียมได้รับรู้ เพราะบุษบาระลึกถึงคำพูดของคุณครูประจำชั้นที่มีเมตตาเป็นอย่างยิ่ง

“บุษบา เธอฟังครูนะ เมื่อเธอหนีชาติกำเนิดตัวเองไม่พ้น เธอก็ต้องระลึกไว้ว่า ชาติกำเนิด ไม่อาจจะลิขิตชีวิตในวันหน้าของเราได้ คนเราจะได้ดีได้ชั่ว ชาติกำเนิดมีส่วนไม่ถึงครึ่งหรอก มันอยู่ที่การตั้งสติ รู้ผิดชอบชั่วดี และสู้กับความจริงตรงหน้าของวันนี้มากกว่า เข้าใจที่ครูพูดไหม”

“เข้าใจค่ะ”

“และเธอก็ควรภูมิใจด้วยว่า เผ่าพันธุ์ของพ่อเธอนั้น เป็นนักสู้เป็นชายชาติทหาร เลือดในกายของเธอครึ่งหนึ่งเป็นเลือดทหาร เลือดทหารในตัวเธอจะทำให้เธอเป็นนักสู้ เพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยสองมือและสมองของเธอให้จงได้...ครูเชื่อมั่นว่าเธอทำได้แน่”

บุษบารู้ตัวเองว่าเป็นคนความจำไม่ดี เรียนไม่เก่ง แต่สิ่งหนึ่งที่บุษบารู้สึกชื่นชอบเป็นอย่างมากก็คือ การทำขนมนมเนย...เพราะช่วงที่ ‘ป้าติ๋ม’ อดีตเพื่อนร่วมงานของแม่หวาน ยังเปิดร้านเบเกอรี่อยู่ที่ตาคลี เธอจะได้กินขนมปังอร่อยโดยไม่ต้องซื้อหาอยู่บ่อยครั้ง และในวันหยุดสุดสัปดาห์ ยายแหวนก็ยังให้เธอไปขลุกเรียนรู้วิธีการทำขนมปัง ขนมเค้ก รวมถึงวิธีการขายขนมด้วยวาจาจัดจ้านจากป้าติ๋ม และป้าติ๋มก็พูดอยู่เสมอ ๆ ว่าต่อไป คนไทยจะกินเป็นแต่ขนมแบบนี้ ส่วนขนมไทยอย่างขนมครก บ้าบิ่น สาคูเปียก กล้วยทอด มันทอด อย่างที่ยายแหวนขายอยู่ จะได้รับความนิยมน้อยลง แต่ถึงอย่างไร ขึ้นชื่อว่าของกินทั้งคาวและหวาน อย่างไรก็จะขายได้ เพราะอนาคต คนจะไม่มีเวลาพิรี้พิไรกับการอยู่การกินเช่นดังแต่ก่อน  หลังจากฟังทัศนคติของป้าติ๋มอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับคลุกคลีอยู่กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสด ทำให้บุษบาแอบฝันไว้ว่า วันหนึ่งเธอจะต้องมีร้านขายอาหารหรือไม่ก็จะต้องมีร้านเบเกอรี่เป็นของตัวเองแบบป้าติ๋มให้ได้...โดยก่อนจะย้ายไปอยู่ภูเก็ตเพราะตาคลีซบเซา ป้าติ๋มก็บอกกับบุษบาว่า ให้เป็นเด็กดี ให้ตั้งใจเรียนหนังสือ  เรียนหนังสือไม่เก่ง ก็ใช่ว่าชีวิตจะอับจนหนทางทำมาหากิน อะไรที่ทำให้ได้เงินโดยเป็นความสุจริต มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ให้ตั้งใจทำให้เต็มที่ และที่สำคัญให้ประคับประคองตัวเองผ่านปากเหยี่ยวปากกาไปให้ได้ ป้าติ๋มพูดกับบุษบาเหมือนกับที่คนอื่นพูด คือให้ตระหนักไว้ให้ดีว่า ความสวย นอกจากจะนำโอกาสดี ๆ มาให้ บางทีก็อาจจะนำภัยร้ายมาสู่ตัวได้เช่นกัน

 

 “แต่งตัวเสร็จแล้วรึ” เสียงของนายบุญเลี้ยงซึ่งย่องลงมาจากบนเรือน ทำให้บุษบาที่แต่งชุดนักเรียนเสร็จเรียบร้อยเตรียมตัวจะคว้ากระเป๋าหนังสือสะดุ้ง เด็กสาวมองนายบุญเลี้ยงที่นุ่งเพียงผ้าขาวม้ายืนอยู่ระหว่างขั้นบันไดเผยให้เห็นร่างกายช่วงบนที่เต็มไปด้วยมัดกล้ามแล้วรีบเบือนสายตาหนี...

“เสร็จแล้วจ้ะตา”

“อีหมู่นี้ เหมือนเอ็งจะแต่งตัว นานกว่าแต่ก่อนนะ”

“ก็...วันนี้ กลับมาสาย ไปแล้วจ้ะตา” ว่าแล้วบุษบาก็ยกมือไหว้ลา แล้วรีบคว้ากระเป๋าหนังสือ แต่เด็กสาวก็ต้องชะงัก เมื่อนาย  บุญเลี้ยงบอกว่า “เดี๋ยวก่อน มาเอาตังค์ค่าขนมก่อน เมื่อคืนตาเล่นไพ่ได้ แบ่งเอาไปกินขนม”

“หนูมีแล้วจ้ะ ยายให้มาแล้ว”

“เอาไปเถอะ ผู้ใหญ่ให้อะไร ก็รับไว้”

“แต่ว่า” บุษบาทำท่าลังเล แต่นายบุญเลี้ยงก็เร็วพอจะลงจากบันไดมาหยุดอยู่ข้าง ๆ แล้วยื่นธนบัตรใบละสิบบาทให้

“มันเยอะไปไหมตา”

“เอาไปเหอะ ยังไม่ได้ใช้อะไร ก็เก็บไว้ซื้อแป้ง ซื้อรู๊ดไว้ทาปาก รู้ไหมว่า เอ็งไม่ใช่เด็ก ๆ แล้วนะ”

สายตาที่มองมายังหน้าอก ทำให้หัวคิ้วของบุษบาขมวดเข้าหากัน นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ถูกตาบุญเลี้ยง ‘สี’ ลับหูลับตายายเมื่อไหร่ เขาจะต้องแสดงอาการเหมือนไก่ตัวผู้ขึ้นมา ดีแต่ว่าถ้อยคำหวังดีของทั้งยาย ป้าติ๋ม และป้าเรียม เป็นเหมือนเกราะป้องกันตัว และที่สำคัญ บุษบาไม่ได้นึกพิศวาสผู้ชายคนนี้เลยสักนิด

ดูซิ ตื่นก็สาย หน้าตายังไม่ล้าง ยังมีหน้ามายืนคุยกับเธอเป็นนานสองนานแถมบุษบาก็รู้สึกว่ากลิ่นตัวของเขานั้นแรงเกินกว่าจะหายใจเอาอากาศตรงนั้นเข้าไป แต่เมื่อเขายื่นเงินมาให้ บุษบารีบคว้าไว้ แล้วบอกว่า “ขอบคุณจ้ะตา หนูไปละนะ” พูดจบ บุษบาก็รีบวิ่งออกไปยังประตูรั้วบ้านที่เปิดทิ้งไว้ ทุกเช้าที่กลับมาจากตลาด บุษบาจะระวังตัว ไม่ยอมให้ตัวเองอยู่ในที่อันตรายอย่างเด็ดขาด และหญิงสาวก็หวังใจว่า อีกไม่กี่เดือน ก็คงจะพ้นจากบรรยากาศแบบนี้ ซึ่งบุษบาก็ไม่รู้หรอกว่าทางที่จะต้องกรุยไปข้างหน้าอย่างที่ยายคิดไว้จะดีกว่านี้หรือเปล่า แต่บุษบาไม่อยากขึ้นชื่อว่า มีปัญหากับผัวของยาย เหมือนกับที่แม่ของตนเคยมี

 

“บุษ รอก่อน รอด้วยสิ” เสียงเรียกของ ‘สิโรจน์’ เด็กหนุ่ม รุ่นพี่ ม.๕ อายุ ๑๗ ปี ลูกชายคนกลางของป้าเรียม ทำให้บุษบาต้องชะงักเท้าที่จะออกวิ่ง เขากรากเข้ามาหยุดอยู่ข้าง ๆ บุษบาก็เร่งสาวเท้า เพราะจวนได้เวลาที่โรงเรียนตีระฆังเข้าแถวหน้าเสาธงในอีกไม่ถึงครึ่งชั่วโมงพลางถามเขาไปว่า “วันนี้ ทำไมไปสายจัง”

“ตื่นสาย เมื่อคืน พอละครจบแล้ว ก็ท่องหนังสือต่อ”

“ยังไม่ท้อ” 

“โอกาสยังมี ก็ต้องไขว่ขว้าไว้ก่อน พี่สิวัฒน์ เขาทำได้ พี่ก็ต้องทำได้” 

ป้าเรียมมีลูกสามคน คนโตเป็นผู้ชายชื่อสิวัฒน์ ปัจจุบัน อยู่โรงเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ ๒ ถ้าแยกเหล่า เขาก็อยู่เหล่าตำรวจ          พี่สิวัฒน์เป็นความภาคภูมิใจของป้าเรียมเป็นอย่างมาก และความภูมิใจก็ย้อนมากดดัน  สิโรจน์ ผู้เป็นน้องชาย รวมถึง น้องสาวที่ชื่อ ‘สิริมา’ อีกคน... ป้าเรียมซึ่งเป็นคนเสียงดังฟังชัดอยู่แล้ว ยิ่งเสียงดังยิ่งขึ้น เมื่อความทุ่มเทของตนกับสามีซึ่งทำงานเป็นภารโรงอยู่โรงเรียนประถมในเขตเทศบาลสามารถผลักดันให้ลูก ๆ มีอนาคตเป็นเจ้าคนนายคนไปได้หนึ่งคนแล้ว และป้าเรียมก็เที่ยวพูดไปทั่วไปว่า สิโรจน์ และสิริมา ก็คงเจริญรอยตามพี่ชายได้ในที่สุด แม้ว่าพี่สิโรจน์จะสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารเพียงครั้งแรกแบบพี่สิวัฒน์ไม่ได้...และเมื่อวาดฝันไว้ให้ลูกสูงทุกคน ทำให้ป้าเรียมต้องขยันขันแข็งทำงานหลายเท่าตัว นอกจากจะขายหมูปิ้งในตอนสาย ๆ จนถึงค่ำ ช่วงเช้าป้าเรียมก็ยังเป็น ‘มือขวา’ ให้ยายปรานี เพราะยายปรานีได้สัญญากับป้าเรียมไว้ว่า      ถ้าขาดเหลือเงินทองสำหรับส่งลูกเรียนหนังสือตามขีดความสามารถของพวกเขา ก็จะให้หยิบยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย ป้าเรียมพรรณนาคุณงามความดีของยายปรานีไม่เคยขาดปาก แถมยังคอยแก้ต่างแก้ตัวให้ยามที่มีคนด่าว่ายายปรานีในทางลับหลัง ผิดกับยายแหวนที่แม้ใคร ๆ จะรู้ว่า ยายเป็นคนบ้านเดียวกับยายปรานี โตมาด้วยกัน ผ่านชีวิตมาแบบรู้ไส้รู้พุงกันเป็นอย่างดี ให้การช่วยเหลือในยามที่ตกระกำระบาก แต่ยายแหวนมักจะพูดถึงยายปรานีในเชิงเหน็บแนมเสียมากกว่าอย่างเช่น 

‘ฉันกับเขาเดินมาพร้อมกันก็จริง แต่เขาเดินนำไปไกลจนลืมต้นทางไปซะแล้ว’

หรือไม่ ‘เราสนิทกันก็จริง แต่มันก็แค่เคยสนิท อย่าให้ฉันต้องไปออกหน้าออกปากพูดแทนใครเลยแค่ฉันขยับปาก เขาก็เตรียมคำตอบไว้รอแบบละเอียดลออแล้ว เขามันนกรู้’

นึกถึงชีวิตของยายแหวนกับยายปรานีแล้วบุษบา ก็นึกถึงประโยคที่ยายชอบพูดบ่อย ๆ ‘แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แต่แข่งบุญแข่งวาสนามันแข่งกันไม่ได้ นะบุษ’

คำเปรียบเปรยแบบนั้น บุษบาเหมือนจะเข้าใจแต่แล้วก็ไม่เข้าใจ...

“เงียบไปเลย” เสียงของสิโรจน์ปลุกภวังค์ของบุษบา

“ไม่รู้จะพูดอะไร”

“บุษจะไม่ให้กำลังใจพี่สักนิดรึ”

พอได้ยินดังนั้นบุษบาที่ตัวสูงเกินเพื่อนหญิงวัยเดียวกันและสูงไล่เลี่ยกับเขา  ก็ปรายตามองหน้าเขาที่เดินเคียงกัน พอสบตาบุษบาก็รู้ว่า เขาคิดอย่างไรกับตัว แต่บุษบากลับไม่ได้รู้สึกอะไรกับเขา เหมือนที่คนอื่น ๆ คิด ใช่แล้ว ใคร ๆ ก็คิดว่าเธอกับเขานั้นรักกัน ชอบกัน เป็นแฟนกัน

“พี่โรจน์ได้กำลังใจจากคนอื่นเยอะแล้ว”

“มันไม่เหมือนกันนะบุษ”

“บุษ เชื่อว่าพี่โรจน์ทำได้อยู่แล้ว ที่หนึ่งของห้อง อย่างไรก็สอบเข้าเตรียมทหารได้แน่ พี่พลาดไปรอบนั่นก็แค่ ยังไม่เอาจริง” บอกเขาแล้ว บุษบาก็เลิกคิ้วให้เขาด้วย

“พี่จะสู้เพื่อบุษด้วยนะ”

บุษบาแสร้งเป็นมองไปยังร้านรวงสองข้างทาง แล้วก็เร่งฝีเท้ามากขึ้น เพราะมีแม่เป็นเมียเช่า มียายที่มีผัวถึงห้าคน ทำให้บุษบาได้ยินคำปรามาสลอยลมมาตั้งแต่เด็กว่า ‘ลูกไม้ย่อมหล่นไม่ไกลต้น’ บุษบาเคยนำคำเปรียบเปรยไปถามป้าเรียม ก็ได้คำตอบว่า ‘แม่เป็นอย่างไร  ลูกก็เป็นอย่างนั้น’ พอเข้าใจคำเปรียบนั้น บุษบาก็ได้ยินชัดอีกคำที่ว่า ‘ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ถ้าจะให้แน่ต้องดูที่ยาย’ ทุกคนพูดเหมือนรู้ว่า ความสวยแปลก ของบุษบาจะเสียหายเพราะผู้ชาย บุษบาจึงได้ระมัดระวังตัวกับผู้ชายที่เข้ามาในชีวิตทุกคน เว้น ลูก ๆ บ้านป้าเรียมที่โตมาด้วยกัน แต่พอแตกเนื้อหนุ่ม บุษบาก็รู้สึกว่าพี่สิโรจน์ พยายามทำตัวเกินคำว่า พี่ชาย อยู่เนือง ๆ แต่บุษบาก็ไม่อาจตัดไมตรีเขาได้อย่างเด็ดขาดเหมือนเพื่อนชายหรือรุ่นพี่บางคน

“แล้วบุษจะไม่เรียนต่อ ม.๔ จริง ๆ หรือ”

“ยายไม่มีเงินส่ง แล้วบุษเองก็หัวไม่ดีด้วย เรียนไปก็คงสอบเข้าอะไรไม่ได้”

“ก็น่าจะขอยายเรียนให้จบ ม.๖  หลังจากนั้น มันก็น่าจะมีหนทางให้เลือกเดินมากขึ้น”

“ยายก็ว่าจะให้ไปทำงานโรงงานกับลูกป้าแมวที่ขายผักแล้วก็หาทางเรียนต่อเอา”

“ทำงานแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปเรียน และที่พี่เห็น พอจบไปทำงานกันปึ๊บ ก็มีผัวกันทันที”

พอเขาพูดมาแบบนั้น บุษบาจึงนิ่งเงียบ ไม่รู้จะตอบโต้ไปว่าอย่างไร ในวัยสิบห้าย่างสิบหกปีกับความรู้เพียงชั้น ม.๓ และต้นทุนชีวิตที่เป็นเพียงลูกเมียเช่า ซึ่งไม่มีทั้งพ่อและแม่แล้ว รวมถึงยายที่เลี้ยงดูจนอายุหกสิบกว่าก็ยังทำงานหาเงินใช้หนี้ก้อนใหญ่ มันจึงยากที่จะเห็นอนาคตตัวเอง บางทีชีวิตของตัวเองก็อาจจะมีทางเลือกแบบนั้นรออยู่ก็ได้ 

“บอกตรง ๆ พี่เสียดายอนาคตของบุษ”

“เสียดาย เสียดายอะไร”

“บุษเป็นคนสวย น่าจะมีทางเลือกชีวิตที่ดีกว่าเป็นสาวโรงงาน” ข้อนั้นบุษบารู้ตัวดี เพราะยามที่โรงเรียนมีกิจกรรมกีฬา    ไหว้ครู หรือต้องทำการแสดงในช่วงเทศกาลปีใหม่ วันเด็ก แม้แต่งานแห่เทียนเข้าพรรษา บุษบาจะได้รับเลือกจากเพื่อน ๆ ให้เป็นตัวแทนทั้งเชียร์ลีดเดอร์ ถือพาน หรือการรำฟ้อน จนถึงเป็นเทพีแต่งชุดไทยเดินถือป้ายกิจกรรม และมีหลาย ๆ คนบอกว่าอนาคตของเธอ น่าจะไปเป็นดารา หรือไม่ก็นางงามเวทีระดับประเทศ มากกว่าที่จะต้องเรียนจบ ม.๓ ม.๖  ขายของอยู่กับยาย และมีสามีเป็นคนตาคลี มีลูกสืบเผ่าพันธุ์ต่อไป 

หรือเธอจะลองสู้เพื่ออนาคตตัวเองสักตั้ง  เพราะถ้ามีวุฒิแค่   ม.๓ ก็ไม่มีสิทธิ์เลือกงาน แต่ถ้าเรียนให้ จบ ม. ๖ หรือ จบ ม.๓ แล้วไปเรียนต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ มันก็ใช้เงินจำนวนมาก และ    ที่บ้านก็กำลังต้องการเงิน และลึก ๆ ยายก็จะระแวงถ้าเธอจะต้องอยู่ที่บ้านที่มีตาบุญเลี้ยงอยู่ด้วย...

 

 กลับมาถึงบ้าน  นางแหวนก็พบว่าในสำรับกับข้าวที่อยู่ในตู้กับข้าว มีแกงป่าปลาช่อน น้ำพริกกะปิ และผักอย่างแตงกวา มะเขือ ผักบุ้งลากวางอยู่เคียงกัน นางมองหาคนทำพร้อมกับตะโกนเรียก ไม่ได้ยินเสียงขาน ก็เข้าใจว่า นายบุญเลี้ยงคงจะออกจากบ้านไปไหน ๆ แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่นางยากจะคาดเดา เพราะบางทีเขาออกไปทำงาน บางทีก็ออกไปเข้าบ่อนไพ่ บ่อนไก่ หรือหาผักหาหญ้าหากุ้งหอยปูปลามาเป็นอาหาร

ที่ว่ากันว่า คนเรามีดีมีชั่วอยู่ในตัว นายบุญเลี้ยงก็เป็นคนเช่นนั้น...นางพบกับเขาครั้งแรก ตอนที่อยู่กินกับนายทำนองได้สองสามปี เขาเป็นญาติห่าง ๆ ของนายทำนอง ออกจากบ้านไประเหเร่ร่อนตามที่ต่าง ๆ ตั้งแต่แตกเนื้อหนุ่ม เคยมีเมียมีลูกและก็เลิกรากันไป ส่วนลูกอยู่กับเมียที่บ้านสวนอำเภอแม่กลอง สมุทรสงคราม ช่วงที่นายบุญเลี้ยงกลับมาอยู่ที่ตาคลี เป็นช่วงทหารจีไอจากไปแล้ว ความรุ่งเรืองเริ่มโรยรา เขามาทำงานในโรงสีเป็นกรรมกรอยู่พักใหญ่  ๆ แล้วก็ลาออกมาประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป สุดแต่ว่าใครจะจ้างให้ไปทำอะไร ส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานลูกมือช่างก่อสร้าง เขาถนัดงานไม้มากกว่างานปูน จนกระทั่งฝีมือเขาพัฒนาขึ้น เขาก็สามารถรับเหมางานเล็ก ๆ น้อยๆ เองบ้าง  ความสัมพันธ์ระหว่างนางกับนายบุญเลี้ยงเกิดขึ้นเพราะการไปมาหาสู่ดื่มกินระหว่างนายทำนองกับนายบุญเลี้ยงในฐานะญาติ จนช่วงนายทำนองป่วย นายบุญเลี้ยงก็เข้ามาบ้านนี้บ่อยขึ้นนัยว่ามาดูอาการพี่ชาย  จนนายทำนองเสียชีวิต ลูก ๆ ของเขา นำร่างกลับไปจัดงานศพเพราะหวังซองช่วยงานด้วย นางก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะถึงอย่างไร เขาก็เป็นพ่อลูกกัน จนงานศพผ่านไป ไม่ถึงสามเดือน นายบุญเลี้ยง ที่มีอายุน้อยกว่านางเกือบรอบปีนักษัตร เรียกนางว่า ‘พี่แหวน’ ยังไปมาหาสู่แสดงความห่วงใยอย่างออกนอกหน้า และเขาก็เผยความในใจว่าอยากดูแลนางในฐานะสามีโดยไม่สนคำติฉันนินทาและไม่กลัวคำกล่าวหาที่ว่านางเป็นคนกินผัว ความเหงาและคารมของเขา ทำให้นางก็ตกลงให้นายบุญเลี้ยงอยู่ร่วมชายคา ท่ามกลางเสียงติฉินนินทาที่หนักหนากว่าการตัดสินใจอยู่กินกับผู้ชายก่อนหน้าทุกคน บ้างก็ว่านางกับนายบุญเลี้ยงลอบเล่นชู้กันตั้งแต่นายทำนองยังมีชีวิต และเหตุที่นายทำนองตายเร็วกว่าที่ควรเป็น ก็เป็นเพราะทนเห็นภาพบาดตาตำใจไม่ได้ นางไม่ได้แก้ต่างแก้ตัวอะไร   นายบุญเลี้ยงก็เช่นกัน ต่างก็ใช้ชีวิตคู่ผัวตัวเมียไปตามปกติ พออายุเข้าเลขห้า ผ่านร้อนและหนาว ผ่านการมีชีวิตท่ามกลางลมปากคนมาไม่รู้กี่ร้อยปากหลากเรื่องราวที่จะเอาไปวิพากษ์วิจารณ์  หนึ่งในนั้นก็เรื่อง เมียแก่หลงผัวเด็ก และบ้างก็ไปวิเคราะห์ว่าก่อนหน้าบรรดาผัวคน ก่อน ๆ ที่นางกินน้ำใต้ศอกอยู่นั้นต่างก็มีอายุ อาจจะทำให้นางไปไม่ถึงจุดสุดยอดของความสุข พอมาเจอหนุ่มใหญ่สรีระเร้าใจเจนโลกก็ลุ่มหลงจนโงหัวไม่ขึ้น ไม่เห็นแม้กระทั่งว่า ผัวที่ควรจะต้องดูแลเมียกลายเป็นเมียที่เหมือนเลี้ยงลูกชายอีกคน  นางอยู่กับนายบุญเลี้ยงมา นางรู้ดีกว่าใคร แม้เขาจะไม่ได้ช่วยเหลือคลายทุกข์เรื่องหนี้สิน แต่เขาก็ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวยุ่มย่ามกับเงินที่นางหามา และหนี้สินที่พอกพูนขึ้นมานั้น นายบุญเลี้ยงก็ไม่ได้เป็นคนสร้างแต่อย่างใด ความสุขที่นางได้จากเขาก็มีตรงที่เขารู้จักช่วยแบ่งเบา งานครัว งานผ้า และปรนเปรอรสสวาทจนนางอิ่มใจล้น และรู้ตัวดีว่าสองสามปีมานี้เริ่มตั้งรับความแข็งแกร่งของเขาที่ยังคงเดิมไม่ไหว 

และเหตุผลลึก ๆ ที่นางต้องให้บุษบาต้องจากบ้านไปทำที่กรุงเทพฯ เพราะนางรู้สึกหึงหวง ระแวงกลัวปัญหาเดิมจะย้อนกลับมาเป็นมีดปักลงกลางอกอีกครา การตัดไฟเสียแต่ต้นลม จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด 

ยายกับหลาน จะใช้ผัวคนเดียวกัน เหมือนกับที่แม่ กับ ลูก เคยใช้ผัวคนเดียวกันอีกไม่ได้